Home ข่าวเศรษฐกิจ “นิตินัย”รับฐานะการเงินทอท.บักโกรก-ชี้โควิดลากยาวอาจกู้เพิ่มมาก กว่า 2.5 หมื่นล.ประคองฐานะ

“นิตินัย”รับฐานะการเงินทอท.บักโกรก-ชี้โควิดลากยาวอาจกู้เพิ่มมาก กว่า 2.5 หมื่นล.ประคองฐานะ

0
“นิตินัย”รับฐานะการเงินทอท.บักโกรก-ชี้โควิดลากยาวอาจกู้เพิ่มมาก กว่า 2.5 หมื่นล.ประคองฐานะ

“นิตินัย”เอ็มดี ทอท.เปิดใจกับก้าวย่างที่ต้องพาองค์กรให้พ้นวิกฤตหลังเป็นเสือนอนกินมีกำไรกว่าปีละ 2หมื่นล้าน จนเจอโควิดซัดจากองค์กรที่มั่งคั่งมีสภาพคล่องเฉียดแสนล้าน มาวันนี้เงินสดในมือเหลือแค่หมื่นกว่าล้าน แถมอยู่ได้แค่ปลายปี64 บักโกรกหนักปีนี้ถึงขั้นต้องกู้เงินกว่า 2.5หมื่นล้านมาเสริมสภาพคล่อง  ลั่น!หากรััฐบาลคุมเข้มพื้นที่สีแดงต่อ อาจต้องกู้เงินเพิ่ม ส่วนแผนลงทุนเพิ่มขีดความสามารถยังเดินหน้าต่อทั้ง”สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง”

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) เปิดเผยว่า จากที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด จนส่งผลให้หลายๆธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการบินได้รับผลกระทบอย่างหนักจนเป็นลูกโซ่  และทอท. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสนามบิน เมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวไม่สามารถเดินต่อไปได้ ย่อมส่งผลต่อธุรกิจทางการบินอย่างหลีกหนีไม่ได้ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวต้องบอกว่ามีเค้าลางเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค.63ที่ประเทศจีน ปิดเมืองอูฮั่น และตามมาด้วยหลายๆประเทศปิดน่านฟ้า พอปลายปี 63 สถานการณ์เหมือนกลับมาดี แต่กลับมาเจอการระบาดโควิดอีกช่วง เม.ย.-พ.ค.64 แถมเจอห้ามเดินทางในพื้นที่สีแดงเข้มเมื่อ 21 ก.ค.64 ทอท.จึงได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ เพราะรายได้หลักๆของ ทอท. คือ ค่าธรรมเนียมที่ได้จากการให้บริการผู้โดยสารผ่านสนามบินของ ทอท.ทั้ง 6 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินเชียงราย

.ปิดประเทศ-พื้นที่แดงเข้มกระทบเป็นโดมิโน่

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด ทอท. มีผู้โดยสารที่เดินทางผ่านเข้า ออกรวม 6สนามบิน อยู่ที่ประมาณวันละ 400,000 คน ทั้งปีมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านเข้า ออกสนามบินรวมกว่า 140 ล้านคน แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดปริมาณผู้โดยสารได้ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 2,000-4,000 คนเท่านั้น ซึ่งนอกจากทอท.ได้รับผลกระทบแล้ว ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการที่มีสัญญากับ ทอท.ภายในสนามบิน มีกว่า 1,000 สัญญา ที่ผ่านมาจ่ายผลตอบแทนให้ ทอท.ที่สูงกว่าผลตอบแทนขั้นต่ำเกือบทุกสัญญา แต่มาช่วงช่วงเดือน ก.พ. 63ที่เกิดโควิดยังพบว่าผู้ประกอบการเอกชนที่จ่ายผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนขั้นต่ำ เพียง 12 สัญญา  จนมาถึงในเดือน เม.ย. 63 พบว่าไม่มีผู้ประกอบรายใดเลย ที่จ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำให้กับ ทอท. ได้

นายนิตินัย กล่าวยอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นและมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 1 ปีครึ่ง ทำให้ ทอท. และ ผู้ประกอบการทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมในสนามบินนี้ได้รับผลกระทบ  ซึ่ง ทอท.ก็ได้แต่หวังว่าผู้ประกอบการในสนามบินที่อยู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบิน จะเพียงแค่ถูกทำลาย (damange) แต่ไม่ได้ตายจาก (disrupt)จากโควิด   

สำหรับสถานะทางการเงิน หรือสภาพคล่องของ ทอท.นั้นยอมรับว่า ในช่วงที่เปิดให้บริการตามปกติก่อนวิกฤตฯทอท. มีรายได้กว่าปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท มีกำไรกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท มีสภาพคล่องเงินสดในมือ สูงถึง 77,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด ทอท.มีสภาพคล่องในมือเหลือเพียง 17,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ทอท.จะใช้ได้ถึงแค่ภายในสิ้นปีเท่านั้น 

ดังนั้น ทอท.จึงมีแผนในปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-ก.ย.65)ที่จะกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาท โดยยอมรับว่าเงินที่จะกู้จำนวนดังกล่าวนั้นจะมาบริหารจัดการในองค์กร รวมถึง แผนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถสนามบินดอนเมือง และ สนามบินสุวรรณภูมิด้วย  อย่างไรก็ตามได้มีการประเมินว่า หากสถานการณ์เลวร้ายลงไม่คลี่คลาย และรัฐบาลประกาศห้ามบินในพื้นที่แดงเข้มต่ออีก 2-3เดือน ตนยอมรับเลยว่า ถึงนาทีนั้น ทอท. อาจจะต้องขอเพิ่มวงกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดิมที่บอร์ด ทอท. เคยอนุมัติไว้ที่ 25,000 ล้านบาทแน่นอน 

.สนามบินไม่เคยหลับพร้อมบริการหลังเปิดประเทศทันที 

นายนิตินัย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า หากสถานการณ์ดีขึ้น ทิศทางการดำเนินการของ ทอท.จะเป็นไปในทิศทางไหนนั้น ในเรื่องนี้  ก็หมายถึงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดจะต้องลดลง รัฐบาลมีนโยบายเปิดน่านฟ้าประเทศอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาต้องบอกว่า แม้สนามบินจะไม่มีผู้ใช้บริการ หรือน้อยมากก็ตาม แต่ ทอท. ไม่เคยหยุด ได้มีการทดสอบเตรียมพร้อมระบบตลอดเวลา ทั้งในเรื่องอุปกรณ์ ภายในสนามบิน นอกสนามบิน  และหากมีการเปิดประเทศ  เปิดน่านฟ้า  ทอท.ก็พร้อมที่จะกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบทันทีซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติในปี 66

หากจะบอกว่า มีเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างไร ต้องบอกว่า ทอท.เตรียมพร้อมใน  2 มิติได้แก่  1. การคืนศักยภาพของสนามบิน (Resume airport capacity) และ  2. การเตรียมการรองรับปกติใหม่ (New normal)

ซึ่ง การคืนศักยภาพของสนามบิน จะแบ่ง ความพร้อมออกเป็นด้านสถานที่และอุปกรณ์และความพร้อมด้านบุคลากรซึ่งทาง ทอท.ไม่เป็นห่วงทั้งสองด้านเพราะสถานที่และอุปกรณ์ก่อนหน้าวิกฤตโควิดได้มีมากพอที่จะรองรับผู้โดยสารจำนวนมากอยู่แล้ว ในขณะที่ด้านบุคลากรไม่เคยลดจำนวนบุคลากรลงเนื่องจากเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

สำหรับความพร้อมของผู้ประกอบการภายในสนามบินอาจเป็นโจทย์ใหญ่ของ ทอท.เนื่องจากผู้ประกอบการภายในสนามบิน ทั้งสายการบิน ผู้ประกอบการพื้นที่เชิงพาณิชย์  สินค้าบริการภาคพื้นจะมีการเกิดวิกฤติที่แตกต่างกันไป ซึ่งในเรื่องนี้ ทอท.ไม่นิ่งนอนใจได้เตรียมแผนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจ รองรับสถานการณ์ไว้แล้ว ด้วยการการจัดตั้งบริษัทลูก  ทอท.ขึ้น ทั้ง บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA  ,บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AVSEC  และบริษัท AOT Tafa Operator หรือ AOTTO  ที่เป็นการร่วมลงทุนกับสมาคมตัวแทนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) เพื่อดำเนินกิจการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub)

ส่วนการเตรียมการรองรับปกติใหม่ (New normal) นั้น ทอท.จะเน้นการให้บริการ ที่ลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ใช้บริการ ซึ่งในส่วนนี้จะนำระบบเทคโนโลยี ด้านไอที  เข้ามาใช้แทนบุคลากร เช่น การออกบัตรโดยสาร , โหลดกระเป๋า และ ตรวจบัตรโดยสาร โดยทั้งหมดจะเป็นระบบอัตโนมัติและเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นของ ทอท.ซึ่งนอกจากจะลดจำนวนบุคลากรแล้วยังลดการสัมผัสระหว่างผู้โดยสารกับเจ้าหน้าที่สายการบินอีกด้วย

“หลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อนำระบบไอที เข้ามาใช้มากขึ้นทอท. จะลดพนักงานหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้สามารถยืนยันได้เลยว่า ทอท.จะไม่ลดจำนวนพนักงานลง แต่จะลดการรับพนักงานใหม่มากกว่า สาเหตุที่ไม่ลดพนักงาน เนื่องจากบุคคลบางส่วนจำเป็นต้องคงไว้ตามมาตรฐานความปลอดภัยสากลแต่ในบางส่วน อาทิ พนักงานทำความสะอาดทั้งในอาคารผู้โดยสารและในห้องน้ำส่วนนี้ ทอท.สามารถใช้เทคโนโลยีหลายประการมาแทน เช่น การนำ หุ่นยนต์มาทำความสะอาด หรือ เซ็นเซอร์ทำความสะอาดเข้ามาแทนบุคลากรได้อย่างมีนัยยะต่อไป

.แผนลงทุน “สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ”ยังเดินหน้า 

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ส่วนแผนการก่อสร้างโครงการพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงิน 42,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ด้านทิศตะวันตก (West Wings)  และตะวันออก (East Wings) วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท กรอบวงเงินรวมทั้งหมด 57,000 ล้านบาทตามแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมินั้น ทอท.ยังคงเดินหน้าเช่นเดิม  เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคต ซึ่งคาดว่าในปี 66  สถานการณ์จะกลับมาปกติ ผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด ที่มีผู้โดยสาร  65 ล้านคน ซึ่งเกินความสามารถในการรองรับของสนามบินสุวรรณภูมิที่รองรับได้เพียง 45 ล้านคน  

ส่วนแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงินลงทุนประมาณ 38,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท (รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก), การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2, โครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING, ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ฯลฯ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 30 ล้านคน/ปี เป็น 40 ล้านคน/ปี

นอกเหนือจากการพัฒนาศักยภาพของสนามบินแล้ว ทอท. ยังมีแผนเพิ่มรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aeronautical Revenue) โดยมีแนวคิดต่อยอดพัฒนาทรัพย์สิน (ที่ราชพัสดุ)ของกรมธนารักษ์ ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ พื้นที่รวมกว่า 1.2 พันไร่ แบ่งเป็น ที่ดินแปลงที่ 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ อยู่ด้านนอกอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ยังเหลือ  700 ไร่ และที่ดินของ ทอท.เนื้อที่ 723 ไร่ ปัจจุบันเหลือใช้  500 ไร่  ซึ่งในส่วนที่ดินราชพัสดุนั้น ขณะนี้ ทอท.ได้ลงนามข้อตกลง ขยายสัญญาเช่าออกไปอีก 20 ปี จากเดิมหมดสัญญาในปี 75 ขยายเป็นปี 95 ซึ่งจะทำให้แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่จะเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยทอท. มั่นใจว่า นอกจากการให้บริการผู้โดยสาร การพัฒนาเชิงพาณิชย์จะสร้างรายได้ให้กับ ทอท.อีกทางหนึ่ง