“นิด้าโพล” เผยประชาชนพอใจรัฐผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ดีขึ้น

  • มีความกังวลติดเชื้อในผู้สูงอายุ
  • กลัว เพราะตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน
  • พร้อมจะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “COVID-19 รอบใหม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 25.86 ระบุว่า มีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 มีการเเพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลย ในการป้องกันตนเอง และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาให้หายขาด ร้อยละ 37.79 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่ารอบที่แล้ว พบผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมากขึ้นทำให้ติดกันง่ายกว่าเดิม จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานและต้องเจอกับผู้คนจำนวนมาก ร้อยละ 18.86 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี หลีกเลี่ยงไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการเเพทย์ในการรักษาให้หาย และร้อยละ 17.49 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่มีการป้องกันตนเองอย่างดีมาก และไม่ได้อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ พบว่า ร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ร้อยละ 42.13 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ร้อยละ 20.99 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การคุมเข้มกับกิจกรรมบางอย่างยังไม่รัดกุม เช่น ให้มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเดินทางข้ามจังหวัด และการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวยังขาดการควบคุมที่รัดกุม ทำให้ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมาก และร้อยละ 9.28 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ต้องการให้มีการควบคุมที่เข้มข้นเหมือนครั้งก่อน และต้องการให้มีการล็อคดาวน์ทั้งประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการผ่อนคลายมาตรการของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ร้อยละ 43.57 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ร้อยละ 34.68 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประชาชนได้ผ่อนคลายบ้าง มีการรับมือทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ประชาชนดำรงชีวิตสะดวกมากขึ้น และประกอบอาชีพ หารายได้ได้เหมือนเดิม ร้อยละ 14.75 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ การใช้ชีวิตแย่ลงกว่าเดิม รายได้จะหายไปมากกว่าเดิม และต้องการให้เลื่อนระยะเวลาการเปิดสถานศึกษาออกไปอีก ร้อยละ 6.39 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลยการป้องกันตนเองโดยเฉพาะเด็กนักเรียน และจำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ลดลง และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 ระบุว่า จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 23.57 ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 7.98 ระบุว่า จะยอมเสียเงินเองในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ และร้อยละ 5.33 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.82 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.78 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.25 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.54 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.61 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.90 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.10 เป็นเพศหญิง 

ตัวอย่างร้อยละ 5.93 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 15.74 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.13 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.61 มีอายุ 46 – 59 ปี     และร้อยละ 22.59 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.30 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.11 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.06 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.53 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 20.99 สถานภาพโสด ร้อยละ 75.51 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.04 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.46 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส 

ตัวอย่างร้อยละ 32.02 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.65 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.45 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.10 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.11 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.67 ไม่ระบุการศึกษา 

ตัวอย่างร้อยละ 10.34 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.75 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.14ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.68 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.82 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน      ร้อยละ 19.77 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.43 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 0.99 ไม่ระบุอาชีพ 

ตัวอย่างร้อยละ 18.63 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.62 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.73 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 8.37 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.86 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.62 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.17 ไม่ระบุรายได้

#TheJournalistClub #โควิด19 #นิด้าโพล