นายกฯ ย้ำทุกหน่วยงานยกระดับปฏิบัติการแก้ปัญหา PM2.5บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น 

  • ติดตาม-ประเมิน-ปรับแผนการปฏิบัติให้สอดคล้องทันสถานการณ์
  • ประสานความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาไฟป่า
  • หมอกควัน PM2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบทุกด้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทย ห่วงใยประชาชนที่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งแก้ไขปัญหา PM 2.5 ตามแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566  

“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ยกระดับเชิงปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้น ทั้งการปรับแผนเพิ่มตรวจสกัดรถควันดำ เข้มงวดเรื่องการก่อสร้าง ตรวจโรงงาน การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นจริงจัง ควบคู่ส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด (เช่น พืชทางการเกษตร วัชพืชต่าง ๆ ขยะ และการเผาป่า) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ หากเผา มีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้มีการประกาศห้ามเผา ปี 2566 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือแล้วจนถึง 30 เม.ย. 66 ยกเว้นจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ประกาศห้ามเผาที่ในโล่งถึง 16 เม.ย. 66 อีกทั้งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command ในการยกระดับการลดการเผาอย่างเด็ดขาดในช่วงวิกฤต รวมทั้งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านโปรแกรม Burn Check เพื่อให้สามารถควบคุมจุดความร้อนได้ในระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานจนสูงเกินไป เพราะเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อน เป็นอีกปัจจัยและสาเหตุสำคัญของปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนและการปฏิบัติให้สอดคล้องทันกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนให้มากที่สุด “

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงาน GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) (วันที่ 11 มีนาคม 2566) ระบุไทยพบจุดความร้อนจำนวน 1,061 จุด ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 383 จุด  พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 278 จุด พื้นที่เกษตร 192 จุด พื้นที่เขต สปก. 123 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 78 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 127 จุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา พบจุดความร้อนจำนวน 4,363 จุด สปป.ลาว 2,868 จุด กัมพูชา 1,182 จุด เวียดนาม 647 จุด และมาเลเซีย 32 จุด โดยสถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ซึ่งปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 นอกจากส่งผลกระทบกับสุขภาพประชาชนแล้วยังส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ด้วย ทั้งระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและ PM 2.5 นอกจากการบูรณาการร่วมมือร่วมใจกันภายในประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนผ่านกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด 

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ฝึกซ้อมระดมพล ดับไฟป่าและจัดทำแนวกันไฟ 2 แผ่นดิน โดยส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันกับประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับพื้นที่บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านให้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและ PM 2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เช่น ประสานขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการใช้รถไฟฟ้า รวมถึงการปรับใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นและลดใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของทั่วโลกในการที่จะร่วมมือกันลดโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไปสู่การพัฒนาและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน

“นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานทำการสื่อสารเชิงรุกในการแจ้งเตือนป้องกันกับประชาชน รวมทั้งการเพิ่มความเข้มข้นในปฏิบัติการ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไข ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยย้ำให้ขับเคลื่อนการปฏิบัติให้มีผลและครอบคลุมเป้าหมาย ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่า โดยใช้กลไกระดับพื้นที่กำกับเข้มพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ข้าวและข้าวโพด และพื้นที่ป่า และให้ติดตามเฝ้าระวังจุดความร้อน เพื่อลดต้นเหตุของการเกิดปัญหา PM 2.5 ให้บรรลุผลสำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้ รวมไปถึงการทำความเข้าใจประชาชนและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นต้นเหตุ และเกษตรกร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการตระหนักรู้และร่วมมือกันแก้ปัญหา PM2.5 ในช่วงเวลาวิกฤต” นายอนุชา กล่าว

สำหรับข้อมูลรายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 13 – 19 มี.ค. 66 ของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าวันที่ 13 มี.ค. 66 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามช่วงระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค. 66 เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังของพื้นที่เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้ ขณะที่ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 16-19 มี.ค. 66 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ภาพรวม PM 2.5 ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com รวมทั้งแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK เพื่อทราบมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและดูแลระวังสุขภาพตนเองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้สูงวัย และสตรีมีครรภ์ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ