ธุรกิจญี่ปุ่นในไทยซมพิษเงินเฟ้อโลกพุ่งส่งออกเดี้ยง

  • ดัชนีแนวโน้มธุรกิจครึ่งแรกปี 66 ลบ 3 จากไตรมาสก่อนที่ 24
  • ภาคอุตสาหกรรมผลิตกระทบหนักสุดแต่ครึ่งปีหลังกระเตื้อง
  • หนำซ้ำขาดบุคลากรคุณภาพแนะรัฐยกระดับการศึกษา

นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทรกรุงเทพฯ) และประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เปิดเผยถึงผลสํารวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ประจำครึ่งแรกของปี 66 จากการส่งแบบสอบถามไปยังสมาชิก 1,633 ราย เมื่อวันที่ 9 พ.ค.-2 มิ.ย.66 แต่ตอบกลับ 512 รายว่า ดัชนีแนวโน้มธุรกิจ (DI) ช่วงครึ่งแรกปี 66 ติดบ 3 จากช่วงครึ่งหลังปี 65 อยู่ที่ระดับ 24 เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และการส่งออกลดลงจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวของประเทศคู่ค้า แม้ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต เช่น สิ่งทอ, เหล็ก/โลหะอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก, เครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่ง, เคมีภัณฑ์ รวมถึงเครื่องจักรไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การขนส่ง/สื่อสาร อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ค่า DI ช่วงครึ่งหลังปี 66 ปรับตัวดีขึ้นจากติดลบ 3 มาอยู่ที่ระดับ 26 เพราะภาคธุรกิจคาดหวังต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของการส่งออก

ส่วนการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรปี 66 ผู้ตอบส่วนใหญ่ 41% บอกจะลงทุนคงที่ ส่วนอีก 30% ลงทุนเพิ่ม และ 13% ลงทุนลดลง ขณะที่ด้านการส่งออกช่วงครึ่งหลังปี 66 มากถึง 46% คาดการส่งออกคงที่ อีก 30% คาดเพิ่มขึ้น และอีก 24% คาดลดลง โดยตลาดส่งออกที่มีศักยภาพที่สุด คือ เวียดนาม ตามด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ

สำหรับปัญหาของธุรกิจ อันดับ 1 คือ การแข่งขันที่รุนแรง ตามด้วยราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนสูงขึ้น, ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงขึ้น, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน, ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ยังมีปัญหาบุคลากรขาดคุณภาพ และขาดแคลนบุคลากร โดยตำแหน่งที่ขาดแคลนมากที่สุด คือ วิศวกร บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา, ผู้จัดการสำนักงาน, บุคลากรด้านดิจิทัล รวมถึงผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น จึงต้องการพนักงานใน 3 ตำแหน่งนี้มากที่สุด ขณะที่ตำแหน่งที่มีเกินความจำเป็น คือ คนงาน พนักงานอื่นนอกเหนือจากบัญชี/ธุรกิจ และพนักงานบัญชี/ธุรการ

สำหรับวิธีการรักษาบุคลากร ได้แก่ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ขึ้นค่าแรง/เบี้ยเลี้ยงต่างๆ ปรับปรุงสวัสดิการ จัดฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพบุคลากร ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 65 มากถึง 51% ตอบได้รับผลกระทบน้อย อีก 32% ไม่ได้รับผลกระทบ และ 13% ได้รับผลกระทบมาก จึงต้องควบคุมค่าใช้จ่ายอื่น ลดจำนวนพนักงาน ลดกำไร ขึ้นราคาสินค้าและบริการ ส่วนการย้ายฐานกรผลิตไปประเทศอื่นๆ หรือปรับเปลี่ยนปริมาณการผลิตในไทยแทบไม่มีเลย

อย่างไรก็ตาม มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย คือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง/การสื่อสาร บังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับมลพิษ/พลังงานสีเขียว บังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีศุลกาพรและพิธีการศุลกากร รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท แก้ปัญหาอุทกภัย แก้ปัญหาการออกใบอนุญาตทำงานและวีซ่า มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ/การบริโภค ผ่อนปรนกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ยกระดับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานภาครัฐ