ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางมาแรง

3d Render Realistic Medical Stethoscope on Color Background.
  • ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่-ทุนโตต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน
  • รับสังคมผู้สูงวัย-คนไทยเครียด-สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน
  • เกือบทั้งหมดเป็นของคนไทยมีสิงคโปร์-จีนสอดแทรก

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 66 พบว่า หนึ่งในธุรกิจที่มีความโดดเด่น คือ ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทาง ซึ่งมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ทุนที่ใช้ประกอบธุรกิจ และผลประกอบการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 63-65) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นในหลายมิติ ไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจเข้ามาลงทุน แต่นักลงทุนทั่วไปก็สนใจลงทุนเช่นกัน


ทั้งนี้ ช่วง 3 ปี ที่เกิดโควิดระบาด จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นมาก โดยปี 63 จดทะเบียน 400 ราย ทุนจดทะเบียน 648.25 ล้านบาท, ปี 64 จดทะเบียน 554 ราย เพิ่มขึ้น 154 ราย หรือ 38.50% จากปี 63 ทุน 970.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 322.23 ล้านบาท หรือ 49.72% ส่วนปี 65 จดทะเบียน 893 ราย เพิ่มขึ้น 339 ราย หรือ 61.20% จากปี 64 ทุน 2,227.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,257.17 ล้านบาท หรือ 129.53% จากปี 64 ขณะที่ช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 66 จดทะเบียน 192 ราย เพิ่มขึ้น 47 ราย หรือ 32.41% จากช่วงเดียวกันปี 65 ทุน 664.50 เพิ่มขึ้น 440.25 ล้านบาท หรือ 1.96 เท่า ส่งผลให้มีธุรกิจดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 3,780 ราย คิดเป็น 0.44% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 18,033.86 ล้านบาท คิดเป็น 0.09% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่


โดยธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 17,114.53 ล้านบาท คิดเป็น 94.90% ของการลงทุนในธุรกิจนี้ทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ สิงคโปร์ 327.92 ล้านบาท สัดส่วน 1.82% ตามด้วย จีน 165.99 ล้านบาท สัดส่วน 0.92%, ฮ่องกง 116.37 ล้านบาท สัดส่วน 0.65% และสัญชาติอื่นๆ 309.05 ล้านบาท สัดส่วน 1.71%


“การลงทุนในธุรกิจนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นของผู้สูงอายุ ประกอบกับ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ ความเครียด ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของคน ทำให้อัตราการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 59 -63 โดยในปี 63 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 26,751 ล้านบาท หรือ 6% จากปี 62 จึงเป็นปัจจัยเสริมให้ธุรกิจนี้จัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก”


นอกจากนี้ การที่ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทาง เป็นสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกในการใช้บริการ เพราะใช้บริการได้ในช่วงเวลาเลิกงาน หรือนอกเวลาราชการ อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ประกอบกับ เทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพที่ต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรคเฉพาะทาง อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ลดจำนวนการใช้บริการที่โรงพยาบาล จึงเกิดโครงการที่คลินิกเอกชนเข้าร่วมกับประกันสังคม คลินิกเครือข่ายของโรงพยาบาล คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น ทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสังคม หรือ สิทธิบัตรทอง สามารถใช้บริการคลินิกได้ ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตรองรับความต้องการใช้บริการและอัตราการเจ็บป่วยในอนาคต