ธปท.ห่วงคนขาดรายได้-ตกงานแนะกัดฟันสู้ต่ออีกยก-เศรษฐกิจซมไข้โควิด

เศรษฐกิจเดือน มิ.ย.-ก.ค.ดาหน้าทรุด รับโควิดพุ่ง-ล็อกดาวน์ โรงแรม ร้านอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ก่อสร้าง แม้แต่ขนส่งสินค้ากระอัก ขณะที่แรงงานไทยเปราะบางตกงานเพิ่ม-รายได้ลด ส่วนส่งออกกลับมาเป็นพระเอกฝ่าโควิด-19 ครึ่งปีโต 19% แต่หวั่นคนงานโรงงานที่ติดโควิดมากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ผลิตสินค้าไม่ได้ ธปท.รับวัคซีนมาช้า คนไทยต้องกัดฟันสู้เศรษฐกิจซบต่ออีกระยะ ระบุติดตามผลมาตรการดูแลหนี้ที่ผ่านมา พร้อมออกมาตรการเพิ่มเมื่อจำเป็น

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเครื่องชี้และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.ว่า เศรษฐกิจยังคงซบเซาลงเห็นได้ชัด โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงในทุกหมวด และทุกพื้นที่ ในขณะที่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตราการล็อกดาวน์ได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการบริการ ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการล่าสุดในช่วงวันที่ 1-28 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า อัตราการเข้าพักของโรงแรมพักโดยรวมต่ำมาก ขณะที่ร้านอาหารมียอดขายที่ลดลง ตามมาตรการห้ามนั่งทานที่ร้าน ขณะที่ภาคการขนส่งสินค้าก็เริ่มเห็นการชะลอตัวลงเช่นกัน

ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตและขายสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับผลกระทบมากขึ้น ยอดขายในห้างสรรพสินค้าลดลงเป็นผลจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นและผลกระทบของมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กยอดขายทรงตัว จากผลของมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ สินค้าคงทนมียอดขายลดลง ตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและความระมัดระวังมากขึ้นในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน
ด้านภาคการก่อสร้าง ได้รับกระทบมากขึ้น จากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้การก่อสร้างส่วนใหญ่หยุดชะงัก การส่งมอบงานและเบิกจ่าย งบลงทุนล่าช้า อีกทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการยังสูง แม้ไม่มีการก่อสร้าง อาทิ ค่าแรงงาน ค่าเช่าเครื่องจักร และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ กระทบต่อเนื่องจากกำลังซื้อที่อ่อนแอและความระมัดระวังมากขึ้นในการให้สินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกและการผลิตเพื่อการส่งออก ยังคงขยายตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกเว้นการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศที่ได้รับกระทบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิต และการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก 1.การแพร่ระบาดในโรงงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทำให้บางโรงงานต้องหยุดผลิตชั่วคราว 2. ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังมีต่อเนื่องและ3.ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์รุนแรงต่อเนื่อง ผู้ประกอบการบางรายจึงพิจารณาย้ายสายการผลิตไปอยู่ใกล้ประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ยังคงหดตัวในภาคการบริโภค โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวลดลงจากไตรมาสแรก 1.8% แสดงให้เห็นกำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงอ่อนแอ และรายได้ที่ปรับลดลง ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยมีผู้ที่ขอรับสิทธิสวัสดิการคนว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 46.1% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดย 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 19% การลงทุนภาคเอกชนเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ตามการลงทุนเพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากการเข้าถือเงินดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนทั่วโลก และความไม่เชื่อมั่นสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยที่สูงขึ้น

“ในขณะนี้การฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งยังต้องใช้เวลา เพราะวัคซีนส่วนใหญ่ และวัคซีนทางเลือกจะมาในช่วงไตรมาสที่ 4 ในขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงเองยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 2-6 เดือน แล้วแต่กรณีที่ดีที่สุด หรือกรณีที่มีแนวโน้มทางลบตามรายงานการประเมินของธปท.ที่ได้แถลงไปก่อนหน้า ดังนั้น เราคงต้องกัดฟันกันต่อไปอีกระยะ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าทางคลัง และรัฐบาลมีความเข้าใจเรื่องปัญหาการทำงานไม่ได้ และรายได้ที่ลดลง โดยออกมาตรการเพื่อเยียวยาในเรื่องรายได้ ขณะที่ ธปท.เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะยังยืดเยื้อจึงได้ออกมาตรการเพื่อดูแลลูกหนี้ต่อเนื่อง และติดตามผลของมาตรการเป็นระยะๆ โดยพร้อมที่จะออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นระยะๆ”ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าว