ธปท.รุกให้ความรู้ จัดงาน“แบงคอก ฟินเทค แฟร์”2019 โชว์เทคโนโลยีการเงินล้ำยุค

  • เปิดให้ทดลองเทคโนโลยีชีวภาพพิสูจน์ตัวตนไฮเทค
  • จ่อใช้คิวอาร์โค้ด-พร้อมเพย์ ซื้อขายทั่วอาเซียน
  • เริ่มใช้ได้แล้ว 2 ประเทศลาว-สิงคโปร์

นางสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ข่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันที่ 17-18 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ธปท.จะจัดงาน “แบงคอก ฟินเทค แฟร์” 2019 ซึ่งเป็นการจัดงานเพื่อพัฒนาและให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) อย่างครบวงครของประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยจัดมาแล้วครั้งแรกในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ซึ่งในปีนี้จะมีการเปิดตัวเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ทั้งในส่วนของเอกชนและภาครัฐ ขณะเดียวกัน จะมีจุดทดลองการใช้ระบบการพิสูจน์ตัวตนอิเลกทรอนิกส์ เช่น การสแกนเสียง การสแกนม่านตา หรือสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งที่ผ่านมา การพิสูจน์ตัวตนที่สาขาของแทบทุกธนาคารมีการทดลองใช้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีระบบการสแกนข้ามแบงก์ ซึ่งจะมีการเปิดให้ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าวในงานนี้ด้วย และคาดว่าจะสามารถใช้จริงทั้งระบบได้ภายในปลายปีนี้

ทั้งนี้ นอกจากการเชื่อมโยงระบบการโอนเงินระหว่างธนาคารในประเทศแล้ว แนวคิดหลักของงานครั้งนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งระบบหลักในการพัฒนาคือ การใช้ระบบคิวอาร์โค้ด ซึ่งจะสามารถจ่ายเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ดได้ในต่างประเทศ โดยในขณะนี้ประเทศที่แอพพลิเคชั่นโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ในไทย สแกนคิวอาร์โค้ดในต่างประเทศได้แล้ว มี 2 ประเทศ คือ ประเทศลาวและสิงคโปร์ และภายในปีนี้จะสามารถใช้ได้ในประเทศกัมพูชา และธปท.กำลังดำเนินการร่วมกับประเทศอินโดนิเซีย และในอนาคตมีเป้าหมายที่จะใช้คิวอาร์โค้ดซื้อขายสินค้าได้ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน แต่การนำมาใช้จะเป็นการทยอยดำเนินการตามความความพร้อมของแต่ละประเทศ

นอกจากนั้น อีกระบบที่จะพัฒนาควบคู่กันไปคือ ระบบการชำระเงิน แบบพร้อมเพย์ ซึ่งในประเทศมีการโอนเงินผ่านระบบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยจากเริ่มต้นระบบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มียอดโอนเงินผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ต่อคนต่อปีที่ประมาณ 50 ครั้ง แต่ในขณะนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 100 ครั้งต่อคนต่อปี และเชื่อว่าจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อภาคธุรกิจเข้ามาใช้การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์มากขึ้น ซึ่งกรณีนี้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะเพราะต้องรับระบบบัญชีของธุรกิจที่ต้องโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ให้เป็นระบบอิเลทรอนิกส์ให้เสร็จสิ้นก่อน ขณะเดียวกัน ธปท.ยังอยู่ระหว่างการขยายการโอนเงินผ่านยระบบพร้อมเพย์ข้ามประเทศด้วย