ธนาคารโลกชี้รัฐบาลควรเตรียมรับมือภาระทางการคลัง หลังทุ่มงบพยุงเศรษฐกิจสู้โควิด-19

  • พร้อมติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
  • ระยะยาวควรนำงบไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
  • พัฒนาการศึกษา รับมือสังคมผู้สูงวัย และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เปิดเผยรายงาน “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย : การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” (Thailand Public Revenue and Spending Assessment Promoting an Inclusive and Sustainable Future) จัดทำโดยธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีการใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเกิดการหดตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ประเทศไทยสามารถกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ

ธนาคารโลกยังระบุว่า มาตรการทางการเงินและการคลังของไทย มีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยไทยดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในส่วนที่สำคัญหลัก ๆ 3 เรื่อง ได้แก่ การใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การบรรเทาภาระทางการเงินให้แก่ประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่า การดำเนินนโยบายและมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจ SME กลุ่มเปราะบาง แรงงานนอกระบบ และเกษตรกร รวมถึงการนำงบประมาณมาใช้จ่ายในมาตรการทางด้านสาธารณสุข เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกเสนอว่า รัฐบาลควรเตรียมรับมือภาระทางการคลังที่เกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น และในระยะยาว ควรนำงบประมาณไปใช้จ่ายในการช่วยเหลือทางสังคมแก่กลุ่มเปราะบางมากขึ้น พัฒนาคุณภาพการศึกษา เตรียมการรับมือกับการเพิ่มสูงขึ้นของผู้สูงวัย และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการลงทุนในด้านเหล่านี้ จะที่ทำให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายบริหารหนี้สาธารณะอย่างยั่งยืน รวมถึงการปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ผ่านการปฏิรูประบบภาษี ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน