ทางหลวงเดินหน้าสร้างถนนแนวใหม่เลี่ยงเมือง อ.ธาตุพนม ยกระดับความปลอดภัย-ส่งเสริมการค้าการท่องเที่ยว เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน รองรับAEC

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ผลักดันโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ ทางเลี่ยงเมือง อ.ธาตุพนม ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจังหวัดนครพนม ในปีงบประมาณ 2564 หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้จังหวัดนครพนมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านคมนาคม เพราะเป็นประตูเศรษฐกิจการค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีที่ตั้งบริเวณชายแดนติด สปป.ลาว เชื่อมโยงเส้นทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมีทางหลวงหมายเลข 212 เป็นทางหลวงสายหลักสำหรับการเดินทางเข้าตัวเมือง แต่ด้วยสภาพเขตทางแคบ พื้นที่ข้างทางเป็นเขตเมือง ยากต่อการขยายช่องจราจร ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาการจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน รวมทั้งยกระดับด้านความปลอดภัยทางถนน และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวง อีกทั้งยังช่วยเลี่ยงรถบรรทุกขนาดใหญ่ให้มาใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง เพื่อลดผลกระทบด้านการสั่นสะเทือนต่อพระธาตุพนมที่เป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครพนม

ดังนั้นทาง กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ได้จัดจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเพื่อสำรวจและออกแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมือง อ.ธาตุพนม จังหวัดนครพนม  โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 212 เลยสะพานข้ามลำน้ำก่ำ ไปจนถึงบริเวณก่อนทางโค้งบ้านดงคราม จากนั้นแนวเส้นทางจะเกาะไปตามขอบพื้นที่ของกรมชลประทานบริเวณลำน้ำก่ำ เมื่อออกจากพื้นที่บ้านดงครามแล้วจะเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตัดกับแนวรถไฟในอนาคตโครงการทางรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม และทางหลวงชนบท นพ.3048 ข้ามห้วยแคน แล้วไปบรรจบจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 212 ประมาณหลัก กม. ที่ 364 ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.ธาตุพนม ต.ธาตุพนมเหนือ ต.ฝั่งแดง ต.น้ำก่ำ และต.พระกลางทุ่ง รวมระยะทางประมาณ 7.86 กิโลเมตร 

สำหรับรูปแบบโครงการออกแบบเป็นถนนคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบร่องกว้าง 9.10 เมตร (รูปหลัก) ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตรและด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เขตทางกว้าง 60 เมตร โดยใช้วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างโครงการ 950 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ทั้งนี้หากโครงการมีการเวนคืนที่ดินแล้วจะมีความพร้อมเพื่อเสนอของบประมาณดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2566 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3 ปีโดยประมาณ มีรายละเอียดงานออกแบบดังนี้

สำหรับรูปแบบโครงการออกแบบเป็นถนนคอนกรีตขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบร่องกว้าง 9.10 เมตร (รูปหลัก) ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตรและด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร เขตทางกว้าง 60 เมตร โดยใช้วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างโครงการ 950 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ทั้งนี้หากโครงการมีการเวนคืนที่ดินแล้วจะมีความพร้อมเพื่อเสนอของบประมาณดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2566 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3 ปีโดยประมาณ มีรายละเอียดงานออกแบบดังนี้

?1) ทางแยกบริเวณลำน้ำก่ำ กม. 1+006 จุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 212 ที่จะเลี้ยวขวาเข้าสู่ อ.ธาตุพนม ซึ่งเป็นเส้นทางไปวัดพระธาตุพนม ออกแบบเป็นสามแยกระดับพื้น ควบคุมด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร

?2) ทางแยกจุดสิ้นสุดโครงการ ก.ม. 8+606 จุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 212 เลี้ยวซ้ายไปนครพนม เลี้ยวขวาไป อ.ธาตุพนม ออกแบบเป็นสามแยกระดับพื้น ควบคุมด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร

?3) จุดกลับรถ ก.ม. 4+795 ออกแบบเป็นลักษณะวงเวียนขนาด 1 ช่องจราจร ทั้ง 2 ทิศทางอยู่ใต้โครงสร้างสะพานที่ยกระดับข้ามทางหลวงชนบท นพ.3048 โดยจุดกลับรถนี้ สามารถเชื่อมต่อไปยังถนนทางหลวงชนบท นพ.3049

 ?4) สะพานข้ามลำน้ำ และสะพานข้ามถนนท้องถิ่น ออกแบบเป็นสะพานคู่แยกซ้ายทางและขวาทาง ทิศทางละ 2ช่องจราจร สะพานกว้าง 12.00 เมตรต่อทิศทาง (รวมราวสะพาน) มีไหล่ทางทั้งด้านในและด้านนอก 

ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งช่วงเวลาปกติและในช่วงเทศกาล ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและระหว่างภูมิภาคมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมภาคขนส่ง เศรษฐกิจท่องเที่ยว การค้าชายแดน รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)