ทางหลวงชนบทลุยสร้างถนนเชื่อมEEC

นายปฐม เฉลยวาเรศ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท รักษาราชการแทน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ทช.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกหรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor ; EEC) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้แก่นักลงทุนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงชนบทที่จะสามารถเชื่อมต่อการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกหรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้

ทั้งนี้ ทช.จึงได้ดำเนินการในโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3138 (3575) – ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 อำเภอบ้านค่าย , วังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งการดำเนินการในถนนสายดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงถนนเดิมให้เป็นถนนลาดยาง แอสฟัลต์ติกคอนกรีต 2 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1 – 2 เมตร พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามคลองชลประทาน 1 แห่ง รวมระยะทาง 32.807 กิโลเมตร โดยเชื่อมระหว่าง อำเภอบ้านค่าย ไปยังอำเภอวังจันทร์ มีจุดเริ่มต้นที่แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3574 บริเวณตรงข้ามที่ว่าการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ใกล้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหัวขวด โดยเส้นทางจะผ่าน 3 ตำบล (ตำบลหนองบัว ตำบลป่ายุบใน ตำบลชุมแสง) โรงเรียน 5 แห่ง วัด 5 แห่ง โรงพยาบาล 4 แห่ง รวมถึงพื้นที่ ทำการเกษตร (ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง) และมีจุดสิ้นสุดโครงการบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 ใกล้กับตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

นายปฐม กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 71 %คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2563 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 159.948 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์นอกจากจะสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกหรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC แล้ว ยังช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะการขนส่งยางพาราไปยังตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก และยังเป็นเส้นทางเลือกในการเดินทางจากอำเภอบ้านค่ายไปยังอำเภอวังจันทร์อีกด้วย

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกหรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor ; EEC) ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้แก่นักลงทุน
ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน