ทัพเรือ-UTA ลุย MOU ยกระดับอู่ตะเภาเมืองการบินตะวันออก เร่งพัฒนาเชิงพาณิชย์ ปลุกลงทุนหนุนเชื่อม 3 สนามบิน กทม.

  • กองทัพเรือแท็กทีม UTA ลุย MOU ผนึกใช้ “สนามบินอู่ตะเภา ทร.กับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา” ในเชิงพาณิชย์ 
  • เร่งยกระดับโปรเจกต์เมืองการบินภาคตะวันออกเต็มรูปแบบ 
  • ส่งสัญญาณเชื่อมใช้โลจิสติกส์ขนส่งเชื่อม 3 สนามบินในกรุงเทพฯ 
  • ชูความคล่องตัว ทั้ง “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา”

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผยว่า ในฐานะผู้แทนจากกองทัพเรือ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU กับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร ผู้แทนบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA) ว่าด้วยการใช้ประโยชน์ “สนามบินอู่ตะเภา” กองทัพเรือ กับ “สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา” ตามโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกัน หรือ JUA :Joint Use Agreement: JUA ที่อาคารราชนาวิกสภา กองทัพเรือ

รายละเอียดการทำบันทึก JUA ถือเป็นส่วนหนึ่งตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง 3 องค์กร คือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คู่สัญญาฝ่ายรัฐ กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (บริษัท UTA) คู่สัญญาฝ่ายเอกชน ตามปกติทางวิ่ง (runway) ที่ 1 สนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือได้ใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคงมาตลอด แต่เพื่อสนับสนุนการใช้งานในเชิงพาณิชย์ควบคู่กันไป เพื่อการพัฒนาประเทศและเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศตามนโยบายรัฐบาลเรื่องการยกระดับสร้างเมืองการบินภาคตะวันออก ทางกองทัพเรือจึงเจรจากับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) จนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่จะสร้างการเติบโตไปด้วยกัน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด กล่าวว่า การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง JUA ครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญเพื่อช่วยกันยกระดับอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 ทำให้บริษัทสามารถใช้รันเวย์ 1 สนามบินอู่ตะเภา ในเชิงพาณิชย์ควบคู่กับการเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกรวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงโดยไม่กระทบกับพันธกิจและการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือแต่อย่างใด

ปัจจัยสำคัญด้านการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันของรัฐกับเอกชนเรื่องการช่วยยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมการบินเมืองไทยเติบโตขึ้นและเป็นที่รู้จักทั่วโลก สร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้เอกชนในประเทศและต่างประเทศให้ขยายเข้ามายังพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC : Eastern Economic Corridor ทำให้เกิด“ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ทำให้เกิดรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป

ขณะที่ นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 19  มิถุนายน 2563  เพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยกระดับอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ โดยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้แก่ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 

รายละเอียดการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะมี 2 รันเวย์ ปัจจุบันรันเวย์ที่ 1 mk’กองทัพเรือเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ รันเวย์ที่ 2 และทางขับ (taxi way) ที่เกี่ยวข้อง รัฐจะรับผิดชอบการก่อสร้างเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แล้วเอกชนจะต้องพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารปีละ 60 ล้านคน

สำหรับการลงนาม JUA ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกข้อตกลงการใช้ประโยชน์รันเวย์ที่ 1 เพื่อให้กองทัพเรือซึ่งมีภารกิจทางด้านความมั่นคง และเอกชนร่วมลงทุนทำในสนามบินเชิงพาณิชย์ สามารถร่วมกันใช้ประโยชน์สนามบินอู่ตะเภาได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ความสอดคล้องกับภารกิจและวัตถุประสงค์ของทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen