“ทวงหนี้” อย่างไร ไม่เข้าข่าย “ทวงหนี้โหด” เปิด 8 กฎเหล็กช่วย “เจ้าหนี้” ทวงหนี้แบบวิน วิน

“ก่อหนี้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว” และ “เป็นหนี้ต้องชำระ” ถือเป็นกฎเหล็กที่ลูกหนี้ควรปฏิบัติ แต่ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน ลูกหนี้ควรต้องเจรจากับ “เจ้าหนี้”อย่างตรงไปตรงมา เพื่อขอผ่อนผัน และรีบชำระหนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ตาม หากเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ …การจ้าง “นักเลง” ให้ติดตามทวงถามหนี้ หรือข่มขู่ลูกหนี้ คงไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง แถมยังเข้าข่าย “หวงหนี้โหด”ที่ผิดกฎหมายและมนุษยธรรมด้วย
แล้วเจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะทวงเงินคืนหรือจ้างตัวแทนที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ ตามพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558​​ รวมทั้ง ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำได้อย่างไรบ้าง เรามี 8 ข้อ..มาบอกกัน ​

1.ทวงหนี้ได้วันละครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ตามประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่อง “จำนวนครั้งในการติดต่อทวงถามหนี้” โดยให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ ได้ไม่เกินหนึ่งครั้งต่อหนึ่งวัน

2.ห้ามทวงถามหนี้จากผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้
ตามไกด์ไลน์ การทางถามหนี้ของธปท. ขอความร่วมมือเจ้าหนี้ ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ และห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งลูกหนี้ระบุไว้

3.แสดงตนชัดเจน ก่อนการทวงหนี้
กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการทวงหนี้ ธปท.ระบุว่า เจ้าหนี้้ต้องแสดงตัวตนต่อลูกหนี้โดยแจ้งชื่อ นามสกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ รวมทั้งจำนวนหนี้ และถ้าเป็นการทวงหนี้ต่อหน้าให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย​​ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส

​ 4.“ทวงหนี้” ตามเวลาที่กำหนด
​ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนหรือสร้างแรงกดดันที่มากเกินไป ธปท.ขอความร่วมมือให้เจ้าหนี้ให้ติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ระบุไว้ แต่หากไม่สามารถติดต่อได้ สามารถติดต่อที่ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ได้ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. และวันหยุดราชการ เวลา 08.00 – 18.00 น.

5.ห้ามทวงหนี้ในลักษณะ “ประจาน”
ธปท.ขอความร่วมมือเช่นกัน ไม่ให้เจ้าหนี้ติดต่อทวงหนี้ลูกหนี้โดยวิธีที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้ เช่น ใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้

6.ห้ามใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้
ห้ามเจ้าหนี้ในการข่มขู่ ดูหมิ่น ใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินต่อลูกหนี้

7.ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด
เช่น ใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานของรัฐ สำนักงานกฎหมาย บริษัทข้อมูลเครดิต รวมทั้งแสดงข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน

8.ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม
เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่กำหนด หรือชักจูงให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้

​ เงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร แต่ถ้าประนีประนอม พยายามช่วยกันทั้งสองฝ่าย “หนี้สิน”ที่คั่งค้างไม่จ่าย อาจจะจบได้แบบวิน วิน