“ทล.-ทช.” ผนึกกำลังเอกชน ผุดโปรเจ็กต์สร้างถนนจากพลาสติกเหลือใช้

  • กรมทางหลวงนำร่องทางหลวง จ.อยุธยา 500 เมตร ประเมินผล 1 ปี ก่อนลุยใช้จริงงบปี 65
  • ลั่นช่วยเซฟงบซ่อมบำรุงปีละ 1.5 พันล้าน-ยืดอายุการใช้งาน
  • ด้านทางหลวงชนบทเล็งเดินหน้าต่อที่ “ระยอง” ขณะที่ “ม.เชียงใหม่” คาดลดต้นทุนสร้างถนนปีละหลายหมื่นล้าน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทางโดยเป็นความร่วมมือของ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG, บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณากำหนดแนวทางการนำขยะพลาสติกเหลือใช้มาใช้ในงานทาง ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ทล.จะนำร่องทดลองการนำพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรับปรุงถนนทางหลวง ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ ในพื้นที่จังหวัดอยุธยา ระยะทางประมาณ 500 เมตร จากระยะทางที่ ทล. จะปรับปรุงในเส้นทางดังกล่าว ทั้งหมด 3 กิโลเมตร (กม.) ขณะเดียวกัน ในระหว่างนี้ ทล. จะต้องเตรียมออกแบบ สำรวจพื้นที่ กำหนดราคากลาง พร้อมกำหนดเงื่อนไขพิเศษที่จะต้องนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในการปรับปรุงถนน ก่อนที่จะประกาศหาตัวผู้รับจ้าง และเปิดประกวดราคา เพื่อดำเนินการปรับปรุงต่อไป โดยคาดว่า จะเริ่มดำเนินการสร้างประมาณช่วง ม.ค.-ก.พ. 2564 ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการปรับปรุงไม่เกิน 2 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ ทล.จะมีการประเมินผลประมาณ 1 ปีโดยเปรียบเทียบระหว่างถนนที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนผสม กับถนนที่ใช้แอลฟัสท์คอนกรีต (AC) หากพบว่า ถนนที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนผสม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพที่ดี ทาง ทล.จะนำไปใช้กับโครงการปรับปรุงทางในปีงบประมาณ 2565 ต่อไป อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยถนนพลาสติกที่ผ่านมา ของ SCG และกลุ่มบริษัท ดาว พบว่า มีความแข็งแรง ทนทาน และช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนจากเดิม 7 ปี เป็น 9 ปี โดยจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการซ่อมบำรุงถนนของ ทล. ได้ประมาณปีละ 5% หรือประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี จากปกติงบซ่อมบำรุงของ ทล. จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท

“การดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลแล้วนั้น ยังช่วยลดปริมาณการใช้ยางมะตอยมาเป็นส่วนผสมในการสร้างทางด้วย โดยที่ผ่านมาการก่อสร้างทาง ระยะทาง 1 กม. จะใช้ปริมาณยางมะตอย 57 ตัน แต่เมื่อนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสม จะช่วยลดการใช้ยางมะตอยได้ประมาณ 3-5 ตันต่อ กม. โดยยืนยันว่าการนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสม ไม่ได้ทำให้ขั้นตอนการก่อสร้างยุ่งยากไปจากเดิม ต้นทุนก็ไม่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญถนนจะมีความปลอดภัยด้วย” นายสราวุธ กล่าว

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี ทช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ในปีงบประมาณ 2563 ทช.ได้ทดลองปูผิวถนนพลาสติกแล้วบนถนนสาย สบ.1004 อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 1 กม. โดยผลการทดสอบเบื้องต้น พบว่า ผิวถนนพลาสติกแอลฟัสท์ มีความแข็งแรง ทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564 นั้น ทช. มีแผนจะปูผิวถนนพลาสติกเพิ่มอีกในพื้นที่ จังหวัดระยอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และมีปริมาณพลาสติกจำนวนมาก มีความเพียงพอต่อการใช้งานและนำมาใช้สร้างทาง

ขณะที่ ศ.คลินิก น.พ.นิเวศน์ นันทจิตร อธิบการบดี มช. กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะ 500,000 ตันต่อปี โดยในจำนวนดังกล่าวสามารถนำมาถนนได้ประมาณ 80% ทั้งนี้ การนำพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนน จะช่วยลดการใช้แอสฟัลท์คอนกรีตประมาณ 20% ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการก่อสร้างถนนได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้ง ยังช่วยลดการก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี