“ทรัมป์”เผย “บาห์​เรน-อิสราเอล” เตรียมสานสัมพันธ์การฑูต-การค้า เป็นประเทศที่ 4 ในโลกอาหรับ ขณะที่ “ปาเลสไตน์” ประณามว่าทรยศ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐแถลงข่าว ว่าประเทศบาห์เรนและอิสราเอล “กำลังดำเนินการ” สถาปนาความสัมพันธ์ “ระดับปกติ” ทั้งในด้านการทูตและการค้า ที่รวมถึงการเปิดสถานเอกอัครราชทูต การเปิดเส้นทางบินพาณิชย์ตรงถึงกัน และการริเริ่มกรอบความร่วมมือทั้งการค้า วิทยาศาสตร์ การศึกษา การเกษตร ความมั่นคง  และการสาธารณสุข “ถือเป็นวันประวัติศาสตร์”

ขณะเดียวกัน  “เบนจามิน เนทันยาฮู” นายกรัฐมนตรีแห่งอิสราเอล แถลงว่าอิสราเอลกำลังจะมีข้อตกลงสันติภาพกับบาห์เรน และยกย่องการตัดสินใจของอีกฝ่าย “คือการเปิดศักราชใหม่แห่งสันติภาพ” ด้านทำเนียบขาวเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมในนามรัฐบาลสหรัฐ รัฐบาลอิสราเอล และรัฐบาลบาห์เรน ว่าผู้แทนระดับสูงจากกรุงมานามาจะเดินทางมาลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ที่ทำเนียบขาว ในวันอังคารที่ 15 ก.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) จะลงนามในข้อตกลงแบบเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวหมายความว่า บาห์เรนถือเป็นประเทศที่ 4 ในโลกอาหรับ ซึ่งประกาศสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอิสราเอล 1 เดือนต่อจากยูเออี ซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วน 2 ประเทศแรกคืออียิปต์ เมื่อปี 2522 ตามด้วยจอร์แดน เมื่อปี 2537

การตัดสินใจของบาห์เรนยังถือเป็น “ความสำเร็จ” ทางการทูตครั้งล่าสุดของรัฐบาลทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. นี้ โดยผู้นำสหรัฐกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในตะวันออกกลาง “ตึงเครียดและวุ่นวายมาก” เมื่อเขาเข้ามารับตำแหน่ง และ “น่าสนใจมาก” ที่เขาประกาศเรื่องนี้ในวันครบรอบ 19 ปี เหตุวินาศกรรม 9/11

ด้านรัฐบาลปาเลสไตน์ประกาศเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำบาห์เรนให้เดินทางกลับทันที และประณามบาห์เรน “ทรยศ” ต่อหลักการสองรัฐ ที่เป็นพื้นฐานของกระบวนการสันติภาพ ส่วนซาอุดีอาระเบีย “ยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการ”

ทั้งนี้เมื่อวันก่อน “ทรัมป์”  ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2564 จากการมีส่วนร่วมผลักดัน การสานสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิสราเอล ซึ่งทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศที่ 3 ในโลกอาหรับ ที่หันมาจับมือกับอิสราเอล

โดยผู้ที่เสนอชื่อทรัมป์ เป็นนักการเมืองฝ่ายขวาของนอร์เวย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยเสนอชื่อผู้นำสหรัฐฯ เข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาแล้วเมื่อปี 2561 จากผลงานการผลักดันการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เปิดให้ประมุขแห่งรัฐ นักการเมืองระดับประเทศ อาจารย์มหาวิทยาลัย และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ร่วมเสนอชื่อบุคคลเพื่อชิงตำแหน่งได้ ซึ่งรายชื่อเจ้าของรางวัลประจำปี 2564 ทางคณะกรรมการจะพิจารณาและประกาศผลในช่วงเดือน ต.ค.2564