ททท.ดัน 20 จังหวัดอีสาน สู่ยุคทองท่องเที่ยวปี 66 เพิ่มเป้า 10% ตลุยขาย 3 บิ๊กโปรเจกต์ “เที่ยว 365 วัน-เมืองรอง-ทัวร์ยั่งยืน”

  • ททท.นำอีสาน 20 จังหวัด เข้ายุคทองท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ปีเถาะอีก 10% บูมขาย 3 โปรเจกต์ “365 เที่ยวได้ทุกวัน”
  • โหมโรง 5FPlus ชู “Food -ดินแดนอาหารมิชลิน” 4 จังหวัด โคราช ขอนแก่น อุดร อุบล Fighth/เมืองกีฬาต้องบุรีรัมย์ Fashion/ชูสกลนครจัดเทศกาลเมืองคราม Fiath/เปิดทัวร์วัดเกจิดัง
  • ดัน “โปรเจกต์เมืองรองต้องลอง” นำเสนอทัวร์ 3 ธรรม “ธรรมชาติ-ธรรมะ-วัฒนธรรม”
  • ปลุกเทรนด์ “ท่องเที่ยวยั่งยืน” รณรงค์ร่วมมหกรรมเดิน ปั่นจักรยาน นำร่องเชียงคาน จ.เลย

นางสาวสรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปี 2566 ททท.ภูมิภาคภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้รับโจทย์ใหม่ตามที่ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ให้ทั้ง 5 ภูมิภาค เพิ่มรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวขยับขึ้นอีก 10 % จากโจทย์เดิมตลาดในประเทศทำแผนร่วมกันไว้ภายใต้เป้าหมายใหญ่ไทยเที่ยวไทยปีนี้ประมาณ 135 ล้านคน-ครั้ง “ภูมิภาคภาคอีสาน” จะต้องทำให้ได้ 15 % คิดเป็นประมาณ 20 ล้านคน-ครั้ง ตอนนี้ได้เปลี่ยนโจทย์ใหม่ทุกภาคต้องเพิ่มอีก 10 % ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ตลาดในประเทศประชุมกำหนดเป้าหมายใหม่ปลายเดือนมกราคม 2566 ก็จะมีตัวเลขเป้าหมายใหม่อย่างชัดเจนประกาศอีกครั้ง

ดังนั้นการทำตลาดท่องเที่ยวภาคอีสานปี 2566 ต้องเน้นเชิงรุกเต็มรูปแบบด้วย 3 บิ๊กโปรเจ็กต์ ประกอบด้วย โปรเจกต์แรก “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” จะบูมขายซอฟท์ เพาเวอร์ 5F+1F/faith ประกอบด้วย F1-Food ปี 2566 อีสานมีร้านอาหารที่ได้รางวัลมิชลินบิ๊บกูร์มองต์ 33 ร้าน อยู่ใน 4 จังหวัด คือ อุบลราชธานี 6 ร้านอุดรธานี 7ขอนแก่น 11ร้าน นครราชสีมา 9 ร้าน โดยมี ททท.ขอนแก่น บูมเส้นทางอาหาร “เมนูพระรอง” อย่างร้านประสิทธิ์โภชนาทายาทเจนสองได้ประยุกต์เมนูต้นตำรับผสมผสานสไตล์ญี่ปุ่นข้าวไทยโปะหน้าเนื้อย่าง และอื่น ๆ อีกหลากหลายเมนูท้องถิ่นสู่สากล

F2 :Film โฟกัส 3 จังหวัด ชัยภูมิ เลย สุรินทร์ ขณะนี้ ททท.ได้ลงนามตกลงกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(NARIT) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ชวนกันในชมดาวในพื้นที่ฟ้ามืดหรือ Dark Sky ซึ่งทาง “จังหวัดชัยภูมิ” มีพื้นที่ได้รับการประกาศจุดชมดาวท้องฟ้ามืดเหมาะเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร โรแมนติก ถึง 3 แห่ง ที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา อ.เมือง อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อ.เทพสถิตกับ อ.ซับใหญ่ และทุ่งกะมัง (ทุ่งหญ้ากว่า5,000 ไร่) เขตอุทยานสัตว์ป่าภูเขียว ส่วน “จังหวัดเลย” โปรโมต 20 ภูดูทะเลหมอก แนวโรแมนติกเช่นกัน และ “จังหวัดสุรินทร์” ททท.จะผลักดันให้เกิดการถ่ายทำเรื่องราววิถีชีวิตช้างบ้านกับคนในชุมชน

F3 -Fashion จังหวัด “สกลนคร” จะเน้นการดึงภาพเรื่อง “ผ้าคราม”ให้ชัดเจน โดยเตรียมหารือกับเอกชนและทุกฝ่ายร่วมกันสร้างสรรค์นำร่องจัดงาน “เทศกาลเมืองคราม”

F4-Fight ททท.ยกให้ “จ.บุรีรัมย์” ซึ่งเป็นเมืองแห่งกีฬา มีโปรแกรมชมการแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งมีสนใจเข้าร่วมชมเต็มทุกรายการ

F5-Festival ในอีสานมีงานเทศกาลประเพณีโดดเด่นคึกคักและสนุกดึงดูดความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น บุญผะเหวดร้อยเอ็ด ไหลเรือไฟนครพนม/หนองคาย บั้งไฟยโสธร ผีตาโขนด่านซ้าย จ.เลย บั้งไฟพญานาค แต่ละงานจะมีคนหลั่งไหลกันมาเที่ยว แล้วผู้หญิงส่วนใหญ่จะนิยมมารำฟ้อนบูชาให้ผู้คนได้ชมด้วย

ททท.มีแนวคิดจะใส่ความเป็นไลฟ์สไตล์เข้าไปในงานเทศกาลต่าง ๆ ของอีสาน เตรียมจะทำคาราวาน “ลูกทุ่ง หมอรำ” ดึงดูดแฟนคลับติดตามเดินทางเข้ามาชมศิลปินในดวงใจ

F6 -Faith การท่องเที่ยวที่สามารถสร้างเทรนด์เรื่องตามความเชื่อความศรัทธา ซึ่งมีคลื่นของสายมูเตลูหลั่งไหลกันเข้ามาสักการะในอีสานจำนวนมาก ไฮไลต์จะโปรโมต อุดรธานี มุกดาหาร บึงกาฬ ในปี 2566 จังหวัดอุดรธานี ทาง “วัดป่าบ้านตาด” ของหลวงตามหาบัว ได้พัฒนาเพิ่มขึ้นใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงเปิด “พิพิธภัณฑ์กับมหาเจดีย์” งดงามมากพร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่นำชมเรื่องราวความซาบซึ้งปิติในจิตใจมาก ขณะนี้ ททท.อุดรธานี เดินหน้าโปรโมตแหล่งท่องเที่ยว “มูกลางคืนก็ปัง มูกลางวันก็เฮง” ควบคู่กันไปด้วย ส่วน จังหวัดมุกดาหาร กับ จังหวัดบึงกาฬ จะมีเส้นทางพญานาค 3 พิภพ

โปรเจ็กต์ที่ 2 “เมืองรอง ต้องลอง” กับ “เมืองรอง มิรู้ลืม” จะชูจุดขาย 3 ธรรม “ธรรมชาติ-ธรรมะ-วัฒนธรรม” ได้แก่“สายธรรมะ” ในอีสานจะมีจุดเด่นสถานที่บวงสรวงพญานาค ถ้ำนาคา ถ้ำนาคี และวัดป่าขึ้นชื่อหลายแห่งด้วยกัน“สายธรรมชาติ” ต้องยกให้ เลยเป็นจังหวัดหลักกับโปรแกรมท่องเที่ยว 20 ภูดูทะเลหมอก ซึ่งมีอากาศเย็นสบายทั้งปีโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะชมทะเลหมอกสวยงามมากที่สุด  เสริมด้วยสุรินทร์กับบุรีรัมย์ที่จะผนวก 2 จังหวัดเข้าด้วยกันเพื่อชวนไปท่องเที่ยว “พระอาทิตย์ขึ้นดูนกกะเรียนบุรีรัมย์” ซึ่งมีเที่ยวบินเช้าลงสนามบุรีรัมย์ “พระอาทิตย์ตกดูช้างสุรินทร์” หมู่บ้านช้าง และสามพันโบก

“สายวัฒนธรรม” ต้องห้ามพลาด ฮีต 12 (งานประเพณีอีสาน) คลอง14  (แนววิถีปฏิบัติอย่างเคร่งครัด) เรื่อยไปจนถึงเส้นทางการแต่งกายแหล่งผ้าไหม การกินอาหารถิ่น ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน

โปรเจกต์ที่ 3 ปลุกเทรนด์ “ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน/Sustainable Tourism” แต่ละสำนักงานททท.ในอีสาน จะเน้นให้แต่ละภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมโดยเลือกนำร่องเรื่องการลดสร้างขยะจากอาหารหรือ Food Waste ตัวอย่างททท.ขอนแก่น รณรงค์ร้านอาหารในโครงการเมนูพระรองเข้าร่วมนำร่องทำให้เหลือของเสียน้อยที่สุด ททท.เลย ปลุกกระแสนักท่องเที่ยวหันมาเดินหรือปั่นจักรยานท่องเที่ยวตามเส้นทางที่เหมาะสมอย่าง อำเภอเชียงคาน

ผอ.สรัสวดี กล่าวว่า ปี 2566 อีสานเป็นพื้นที่มีศักยภาพและดึงดูดคนเดินทาง ด้วยค่าครองชีพสมเหตุผล จึงตั้งเป้าสร้างสรรค์ตลาดใหม่เพิ่มขึ้น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 มัลติเจน ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกปู่ย่าตายายขับรถท่องเที่ยวกันเอง  กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนทำงาน กลุ่มที่ 3 กลุ่ม Workation ทำงานที่ไหนก็ได้จะเน้นจังหวัดที่มีโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตประสิทธิภาพสูง ในเมืองใหญ่อย่าง ขอนแก่น มีทั้งมหาวิทยาลัย คาเฟ่เก๋ ๆ และ Co-Working Space อุดรธานีนครราชสีมา เน้นบริเวณเขาใหญ่ ปากช่อง ซึ่งมีต่างชาติพำนักในไทย (expat) อาศัยอยู่จำนวนมากซึ่งมีคาเฟ่และCo-Working Space ค่อนข้างมาก

ทั้งเป็น 3 ตลาดใหม่ สร้างขึ้นมาเพิ่มขึ้นจากเดิมจะมีตลาดหลักเพียง 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงวัยใจเกินร้อย/Senior Active กับกลุ่มบริษัทห้างร้านจัดประชุมสัมมนา (corporate)

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen