ถอดรหัส..คนไทยใช้แอปอะไรชำระเงิน

อย่างที่รู้กันว่า ในช่วง 2 ปีของวิกฤตโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ คนไทยจำนวนมากปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายหันมาใช้การชำระเงินผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์มากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยในปี 64 ที่กำลังจะผ่านไปในอีกประมาณครึ่งเดือนจากนี้ 

ผลการสำรวจ “Payment Diary 2564” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ประชาชนคนไทยมากถึง 91% เคยใช้การชำระเงินผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ หรือ e-Payment ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ใช้ผ่านสมาร์ทโฟนโดยประชาชน 92% ของประเทศมีสมาร์ทโฟนที่รองรับ e-Payment ได้ 

โดยการสำรวจ พบว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทย 24% มีการใช้จ่ายผ่านระบบ e-Payment เพิ่มขึ้นขณะที่อีก 69% ระบุว่า ใช้ e-Payment เท่าเดิม โดยเหตุผลที่มีใช้การชำระเงินผ่าน e-Payment เพิ่มขึ้นนั้น 63% ตอบว่า สะดวกกว่าการใช้่เงินสด 57% ตอบว่า ลดการสัมผัสที่เสี่ยง โดยเฉพาะการสัมผัสเงินสด และ42% ตอบว่าซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้การใช้ e-Payment  จะเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  แต่ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ในช่วงเวลาของการสำรวจ ธปท.ยังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังใช้ “เงินสด” เป็นสื่อหลักการชำระเงิน ทั้งในด้านปริมาณ และมูลค่า โดยเทียบทั้งระบบ คนไทยยังใช้เงินสดในการใช้จ่ายสูงถึง 87% ของการชำระเงินทุกประเภท ขณะที่มูลค่าเงินสดที่ชำระคิดเป็น 64.2% ของระบบเศรษฐกิจ

การใช้ e-Payment ยังคงมีสัดส่วนเพียง 13% ของระบบโดยรวมเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตุว่า ใน 13% ของการใช้จ่ายผ่าน e-Payment การทำธุรกรรมการผ่านแอปพลิเคชั่นที่คนไทยนิยม และใช้จ่ายสูงที่สุดในช่วงปี 64 ที่ผ่านมาคือการใช้จ่ายผ่าน “แอปเป๋าตัง” ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุดที่ 67% สะท้อนให้เห็นว่า การ่ใช้ e-Payment ยังเป็นการใช้จ่ายผ่านโครงการภาครัฐเป็นหลัก

ขณะที่การใช้ e-Payment ผ่านแอปพลิเคชั่นโมบาย แบงก์กิ้ง และอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง หรือแอปธนาคารในมือถือทุกยี่ห้อ ได้รับความนิยมในสัดส่วนการใช้ที่  23%  ส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต อยู่ที่ 5% และการชำระเงิน e-Payment ผ่านระบบอื่นๆ ยังคงมีสัดส่วนน้อยิเพียง 3% เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม หากคิดเป็นสัดส่วนมูลค่า หรือจำนวนเงินที่ใช้จ่ายผ่านระบบ e-Payment มีอัตราส่วนที่สูงกว่าปริมาณโดยมีมูลค่าวงเงินอยู่ที่ 36% และการชำระเงิน e-Payment ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง หรือมากกว่า 500 บาท และใน 38% ของวงเงินที่ใช้จ่ายนั้น แบ่งเป็นวงเงินที่ชำระผ่านแอปธนาคารมือถือ 58% บัตรเครดิต 22% แอปกระเป๋าตัง 17% e-Wallet 1% และการชำระเงินอื่นๆ 2%

และหากถามว่า  คนไทยจ่ายเงินผ่านระบบ e-Payment เพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นหลัก พบว่า 3 วัตถุประสงค์แรกนั้นเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน โดย  62% ตอบว่าเพื่อโอนเงินให้บุคคลอื่น ขณะที่ 52% ใช้โอนชำระค่าสินค้า และบริการที่ซื้อในช่องทางออนไลน์ และ 50% ตอบว่า เพื่อใช้ซื้อสินค้่า และบริการ ณ จุดขาย

โดยสินค้าที่รับชำระผ่านระบบ e-Payment สูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ อาหารและเครื่องดื่ม 75% ตามมาด้วยของใช้ส่วนตัว 7% และใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง 6% ดังนั้น สถานที่ที่ใช้ e-Payment บ่อยที่สุด อันดับแรก คือ ร้านอาหาร30% ตลาดสดตลาดนัด 22% และร้านแถวบ้าน 14%

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการสำรวจพฤติกรรมของคนไทยกับ e-Payment ในปัจจุบันแล้ว ธปท.ยังอยากรู้พฤติกรรมต่อเนื่องในช่วงต่อไปด้วยว่ามีทิศทางอย่างไร 

โดยได้สอบถามคนในกลุ่มที่ใช้แอปกระเป๋าตัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับเงิน และใช้จ่ายเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ เป็นหลัก ว่า “เมื่อหมดโครงการความช่วยเหลือของรัฐแล้ว จะยังคงใช้แอปเป๋าตังและการจ่ายเงินผ่านระบบ e-Payment หรือไม่” 

ทั้งนี้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ 65% ตอบว่า จะกลับไปใช้ “เงินสด” เหมือนเดิม

ขณะที่ 27% ตอบว่า จะใช้แอปกระเป๋าตังต่อ ขณะที่ 7% ระบุว่า จะสมัครใช้ โมบาย แบงก์กิ้งของธนาคารอื่น แต่อย่างไรก็ตาม 37% ของผู้ที่ตอบ เชื่อว่าตนเองจะใช้ โมบาย แบงก์กิ้ง และ e-Payment เพิ่มขึ้น

แสดงให้เห็นว่า แม้คนไทยส่วนใหญ่จะเรียนรู้ และเข้าใจการใช้ ดิจิทัล แบงก์กิ้ง หรือ ธุรกรรมการเงินการธนาคารผ่านดิจิทัล ได้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิดนี้ แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคตได้เลยเสียทีเดียว ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการอื่นเพิ่มเติมอีกมาก

ส่งท้ายด้วย ข้อมูลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นผู้นำในโลกดิจิทัล แบงก์กิ้งเริ่มต้นจาก สหรัฐอเมริกา ซึ่งสำรวจ“Payment Diary เป็นประจำทุกปี ล่าสุด ปี 2563 พบว่าประชาชนยังคงนิยมใช้ บัตรเดบิต 28% บัตรเครดิต 27% และเงินสด 19% แสดงให้สัดส่วนการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น และการใช้เงินสดลดลงต่อเนื่อง

ตามมาด้วย สวีเดน เป็นประเทศที่เป็นต้นแบบของ cashless society หรือ สังคมไร้เงินสด มากที่สุดของโลก พบว่ามีประชาชนเพียง 9% ที่ใช้จ่ายด้วยเงินสด โดบพบว่าการใช้เงินสดในสวีเดนลดลงถึง 30% ในช่วง 10 ปีจาก 39% ในปี 2553 โดยขณะนี้คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายผ่านบัตร อิเล็กทรอนิกส์ และ e-Wallet 

และประเทศสุดท้าย เยอรมนี ซึ่งแม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก แต่กลับพบว่าประชาชนยังใช้จ่ายด้วย เงินสดถึง 60% แต่ในช่วงที่ผ่าน การระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะการใช้บัตรแบบ contactless 

แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อมั่น และพฤติกรรมของ “คน” เป็นเรื่องที่สำคัญมากเท่ากับ หรือมากกว่าเทคโนโลยี ในกรณีของ “การใช้เงิน” ในอนาคต