ต้องรอดู… “วิษณุ” ยอมรับ ม.144-185 อาจมีปัญหา ทำรัฐธรรมนูญปราบโกงอ่อนลง แนะเข้าแก้ไขได้ในชั้นแปรญัตติ

วันนี้ (22 มิ.ย.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง โดยได้มีการย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า จะแก้อย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งทางผู้สื่อข่าวที่สอบถาม จึงตอบกลับไปว่า “ให้เพิ่มสิทธิประชาชนและลดอำนาจรัฐ” จากนั้นนายวิษณุ จึงตอบกลับมาว่า ต้องให้ไปถามผู้เสนอร่างมากกว่า

ทั้งนี้เมื่อถามว่า มีเสียงท้วงติงจาก ส.ว. เรื่องการแก้มาตรา 144 ที่จะให้ ส.ส. ส.ว. และคณะกรรมาธิการเข้าไปแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ และมาตรา 185 ที่จะเปิดโอกาสให้ ส.ส. เข้าไปแทรกแซงข้าราชการ โดยไม่มีโทษทางกฎหมาย จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอ่อนแอลงหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า เป็นประเด็นที่มีปัญหาใน 2 มาตรานี้ แต่หากรัฐสภาเห็นชอบวาระหนึ่งก็สามารถเข้าไปแก้ไขในชั้นแปรญัตติให้เข้มข้นขึ้น จางลง หรือชัดเจนขึ้นอาจจะมีความรู้สึกว่า 2 มาตรานี้ จะยังไม่ชัดเจนอะไรที่ได้อะไรที่ไม่ได้จะทำให้เกิดปัญหาในการตีความ แต่ตนไม่ทราบว่า เขาจะแก้ไปในแนวทางใด

นอกจากนี้เมื่อถามว่า การแก้ไข 2 มาตราดังกล่าวตามร่างของพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้กลไกปราบโกงของรัฐธรรมนูญลดลงไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ก็มีส่วน อาจจะไม่ใช่เจตนารมณ์ของ 2 มาตราดังกล่าวก็ได้ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา เพราะสภาฯ เขาก็อยากให้แก้ทั้งฉบับอยู่แล้ว

เมื่อถามอีกว่า แนวโน้มเรื่องการแก้ไขบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ จะทำให้การเมืองกลับไปเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ อีกทั้งเมื่อถามอีกว่า แนวโน้มการยกเลิกให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ จะผ่านหรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวยังได้ถามอีกว่า กรณีสภาฯ ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สภาฯ มีอำนาจหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไม่ถูกเป็นเรื่องของสภาฯ และ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็ระบุว่าไม่ได้ตีตก และเรื่องนี้เชื่อว่า คงมีการนำไปหารือกันในสภาฯ

อีกทั้งเมื่อถามว่า กรณีพรรคก้าวไกลระบุว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ผ่านการพิจารณาวันนี้ จะเสนอ ครม. ทำประชามติถามประชาชนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามมาตรา 256 ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าร่างดังกล่าวยังไม่ผ่าน เพราะตามขั้นตอนเมื่อรัฐสภาผ่านกฎหมายดังกล่าวแล้วต้องส่ง ครม. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อรอการประกาศใช้ แล้วอยู่ๆ จะมาใช้ขั้นตอนที่ยังไม่เป็นกฎหมาย แต่สามารถเตรียมการเอาไว้ได้ จะเอากฎหมายมาใช้เลยไม่ได้