ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ห่างไกลสมองเสื่อม

  • สมองเสื่อมได้มากกว่า 1 สาเหตุ
  • ปี2565 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว
  • ประชากรที่สูงวัยมักจะมีปัญหาสุขภาพที่ตามมา


นพ.สกานต์ บุนนาคผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์ฯผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 และในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ โดยประชากรที่สูงวัยมักจะมีปํญหาสุขภาพที่ตามมาด้วยเป็นโรคต่างๆ รวมทั้งโรคที่เกิดจากความเสื่อมอีกด้วย หนึ่งในนั้น คือ โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีการเสื่อมของการทำงานของสมองไปจากเดิม ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีปัญหา ขาดสมาธิ ความจำและการเรียนรู้ การใช้ภาษา การรับรู้ทิศทางและตำแหน่ง การบริหารจัดการ/วางแผน/ตัดสินใจ การปรับตัวต่อสังคมรอบตัว หรือ การควบคุมพฤติกรรม ซึ่งมักมีอาการเกิดขึ้นหลายๆอาการร่วมกัน โดยที่อาการเริ่มต้นผู้ป่วยเองมักไม่รู้ตัว อาการดังกล่าวจะค่อยเป็นค่อยไป และเป็นรุนแรงมากจนกระทั่งผู้ป่วยมีปัญหาในการทำงานและความสามารถในการดูแลตนเองในชีวิตประจำวันสมองเสื่อมไม่ใช่เป็นภาวะที่เป็นในผู้สูงอายุทุกคน แต่เจอได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ในผู้สูงอายุทั่วไปอาจจะมีการลืมได้บ้าง แต่ยังนึกได้ว่าลืมอะไร ความคิดอาจช้าลงต้องพยายามคิดนานขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะลืมวิธีการทำกิจกรรมในสิ่งที่เคยทำได้เป็นประจำ จำไม่ได้เลยว่าตนเองลืมอะไรหรือหยิบจับอะไรมา หรือกินข้าวก็บอกว่ายังไม่ได้กิน เป็นต้น

สมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางรายมีภาวะสมองเสื่อมได้มากกว่า 1 สาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อย เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง และ สาเหตุอื่นๆ เช่น สาเหตุจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาดวิตามิน B12 ทำให้ขาดสารอาหารที่สำคัญต่อเซลประสาทในสมอง มักจะพบในผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ติดสุราสาเหตุเกิดจากการถูกกระทบกระแทกที่ศีรษะอยู่เสมอๆ ในนักกีฬาต่อยมวย หรืออุบัติเหตุ สาเหตุเกิดจากเนื้องอกที่เกิดจากทางด้านหน้าของสมอง สาเหตุเกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ สาเหตุจากภาวะน้ำในโพรงสมองมากผิดปกติ สาเหตุจากการรับประทานยาบางชนิดที่ทำงานรบกวนระบบประสาทเป็นเวลานาน เป็นต้น
อาการที่สงสัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม โดยจะสัญญาณแรกที่บ่งบอกภาวะสมองเสื่อมได้แก่

• มีการหลงลืมบ่อยกว่าเคยจำเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้,
• มีความรู้สึกยากลำบากในการทำงานที่ทำอยู่ประจำรู้สึกว่าสิ่งที่เคยทำเป็นเรื่องยาก เช่น ลืมขั้นตอนทำอาหารที่ทำบ่อยๆ, ติดขัดในการใช้ภาษาสื่อสารกับผู้อื่นยากขึ้น พูดจาติดขัด ลืมคำศัพท์ง่ายๆ,
• มีความสับสนในการลำดับเหตุการณ์ รวมทั้งหลงวันเวลา สับสนเรื่องสถานที่,
• มีการตัดสินใจช้าหรือผิดพลาด แก้ปัญหาไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องยากๆหรือสถานการณ์ที่ต้องใช้ความคิด ทั้งที่เคยทำได้, มีสมาธิสั้นวอกแวกง่าย ไม่สามารถจดจ่อกับเรื่องอะไรนานๆได้,
• มีการวางของผิดที่ผิดทางและไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิด เช่น เอาโทรศัพท์ไปใส่ตู้เย็น,
• มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป บุคลิกภาพเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เคยเป็นมาก่อน,
• มีปัญหามิติสัมพันธ์ งงกับป้ายสัญญาณที่เห็นอยู่ประจำ ทำความเข้าใจภาพได้ยาก อ่านแผนที่ไม่เป็น ไม่สามารถบอกทางผู้อื่นได้ ไม่เห็นภาพสำเร็จที่ตนเองกำลังลงมือทำ

• มีการแยกตัวจากสังคม นั่งหรือนอนทั้งวัน ไม่อยากเจอผู้คน เก็บตัว
การป้องกัน..ต้องทำอย่างไร เนื่องจากปัจจุบัน สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง เช่น อัลไซเมอร์ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้น การป้องกันโรคสมองเสื่อมดังกล่าวทำได้เพียงการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม เช่น การออกกำลังกายและมีกิจกรรมทำอย่างสม่ำเสมอ การเล่นเกมส์ การฝึกสมอง รวมถึงการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
• การออกกำลังกาย มีการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นสมองเสื่อมได้ หากมีโรคประจำตัวควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม การออกกำลังกายสามารถทำง่ายๆ ที่บ้าน เช่น การเคลื่อนไหวข้อต่อของร่างกาย การเดินแกว่งแขน เล่นโยคะ เต้นรำ โดยออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน
• การฝึกจิตใจ การสวดมนต์ ทำสมาธิ มีผลดีต่อความจำการรู้คิด นอกจากนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมสังคมบ่อยๆ จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่น ไปเข้าชมรมผู้สูงอายุ ไปวัด ไปสภากาแฟในหมู่บ้าน เป็นต้น เพราะได้เล่าเรื่องราวต่างๆ โดยนึกถึงเรื่องดีดี พูดคุยโต้ตอบ นอกจากทำให้สมองได้ใช้ความคิดแล้ว การทำกิจกรรมดีดีร่วมกันยังได้ผ่อนคลายจากความเครียดและมีความสุขทางใจ
• การควบคุมโรคเรื้อรัง สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่และโรคอ้วน
• อาหารช่วยเรื่องความจำ…มีจริงหรือไม่ การรับประทานอาหารมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น อาหารไขมันสูง พลังงานสูงหากรับประทานมากเกินพอดีก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดและหัวใจ ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง สารอาหารบางชนิดร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องมาจากการรับประทานอาหารเข้าไป บางชนิดจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้นทำให้มีผลกระทบกับสมองทั้งสิ้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ชวนเชื่อมากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์สารสกัด และวิตามินเสริมหลายชนิด ซึ่งมีราคาสูง และยังไม่มีหลักฐานที่แท้จริงในการป้องกันสมองเสื่อมแต่อย่างใด และหากรับประทานมากไปยังก่อให้เกิดอันตราย แต่ยังได้รับความนิยมกันมาก จนทำให้อาหารที่ดีจากแหล่งธรรมชาติ มีสารอาหารครบถ้วนในชีวิตประจำวันถูกมองข้ามไป


หลักในการรักษาผู้มีภาวะสมองเสื่อม มีเป้าหมายสำคัญคือการกระตุ้นให้ผู้ป่วยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้ การรักษา ประกอบด้วยการรักษาด้านการรู้คิดและความจำ และด้านที่ไม่เกี่ยวกับการรู้คิดและความจำ อาทิ ปัญหาด้านพฤติกรรม และอารมณ์ การรักษาสาเหตุ หลายสาเหตุถ้าสามารถตรวจพบได้เร็วและแก้ไขสาเหตุได้ อาจทำให้การทำงานของสมองกลับมาเป็นปกติ หรือ ยับยั้งไม่ให้อาการเป็นมากขึ้นได้ เช่น ขาดวิตามิน พร่องฮอร์โมนไทรอยด์ น้ำในโพรงสมองมากผิดปกติ แต่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม ปล่อยจนเป็นมากเกินกว่าจะรักษาได้ ญาติบุคคลใกล้ชิดและผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องหมั่นสังเกตสัญญาณแรกที่บ่งบอกภาวะสมองเสื่อม หากสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์


ล่าสุด สถาบันเวชศาสตร์ฯผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ ร่วมกับ สสส. ได้ออก App ชื่อ “สูงวัย 5G+” เป็นของขวัญวันสงกรานต์ให้ประชาชนเพื่อต้องการแก้ปัญหา COVID19 ทำให้ผู้สูงอายุต้องเก็บตัวอยู่บ้านนานจนร่างกายและสมองถดถอย โดยสามารถ down load ได้ฟรี ทั้งนี้ สูงวัย 5G+ App เป็นเกมฝึกร่างกายป้องกันการหกล้มและฝึกสมองป้องกันสมองเสื่อมสำหรับผู้สูงอายุ ออกแบบตามหลักวิชาการ สามารถเลือกเล่นคนเดียว แข่งกันในกลุ่มเพื่อน หรือ แข่งกับคนทั่วไป มีสะสมคะแนนได้ นอกจากนี้ยังมี module คัดกรองสุขภาพด้วยตนเองได้ ให้ความรู้ด้วย graphic animation เข้าใจง่ายไม่ต้องอ่านเองอีกด้วย

#Thejournalistclub #โควิด19#ผู้สูงอายุ #สมองเสื่อม