ดุสิตโพล เผยคนไทยเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ

  • เห็นด้วยควรมีกฎหมายรับรองกลุ่มหลากหลายทางเพศ
  • “เพศ” เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
  • และมนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน

วันที่ 18 มิ.ย. 2566 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “คนไทยกับความหลากหลายทางเพศ” จำนวนทั้งสิ้น 1,017 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 12-16 มิถุนายน 2566 พบว่า ภาพรวมกลุ่มตัวอย่างรู้ว่าเดือนมิถุนายนเป็นเดือน Pride Month ร้อยละ 54.28 และไม่รู้ ร้อยละ 45.72 โดยมองว่าปัจจุบันสังคมไทยเปิดกว้าง ยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ร้อยละ 54.92 และให้การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ร้อยละ 84.56 โดยมองว่าสังคมไทยตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับ “กลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)” ในระดับมาก ร้อยละ 49.95 ทั้งนี้เคยพบเห็นปัญหาการเหยียด ทำร้ายร่างกายและจิตใจต่อบุคคลกลุ่มหลากหลายทางเพศ ร้อยละ 47.00 โดยร้อยละ 75.41 เห็นด้วยว่าสังคมไทยปัจจุบันควรมีกฎหมายรับรองกลุ่มหลากหลายทางเพศ

จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมสังคมไทยเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ถึงแม้จะยังพบเห็นการอคติทางเพศในครอบครัว เพื่อน หรือที่ทำงาน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าเรื่อง “เพศ” เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล และมนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมิถุนายนเป็นเดือน Pride Month ทำให้เห็นการออกมาแสดงออกและร่วมยินดีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเพียงกระแสหรือไม่นั้นก็ต้องติดตามจากการผลักดันกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ธีรพจน์ จินดาเดช ตัวแทนกลุ่มหลากหลายทางเพศ. กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “เพราะเขาอาจจะเป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นพี่น้อง หรือเป็นญาติของเรา” ปัจจุบันคนไทยจึงเปิดใจกว้างกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นทั้งจากครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และในสังคม อยู่ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกัน ในหลากหลายวงการ เช่น วงการบันเทิง การศึกษา การเมือง ฯลฯ

อดีตที่อาจถูกมองว่าอย่าเข้าใกล้ กีดกัน อย่าให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เกิดการเลียนแบบ แต่ในปัจจุบัน LGBTQ+ สร้างงานสร้างรายได้จากตัวตนที่เป็น จากพรสวรรค์ที่มี จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น จะว่าไป LGBTQ+ ก็ = Soft Power ในส่วนของคนที่ใจยังปิด หรือปากว่าตาขยิบ ก็อยากให้ “เปิดใจ” ทั้งนี้ยังคงเฝ้ารอสังคมไทยในมุมที่มีกฎหมายรองรับความหลากหลายทางเพศ เพราะ “คนเราเท่ากัน = เท่าเทียม”