“ดีแทค” ประกาศกลยุทธ์ 64 ลุยขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วไทย

  • ขยายให้บริการ 5G และ 4G อย่างต่อเนื่อง
  • การใช้งานดาต้าในต่างจังหวัดที่เติบโตกว่ากรุงเทพฯ 9 เท่า
  • เร่งรุกบริการดิจิทัลให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทุกกลุ่ม

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564  นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคได้เตรียมกลยุทธ์ 2564 ที่จะยกระดับสู่องค์กรที่มีศักยภาพพร้อมยืนหยัดทุกสถานการณ์ สร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่งผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วไทย คือจุดมุ่งหมายที่ผลักดันทิศทางการดำเนินธุรกิจของดีแทค นอกจากบริการการสื่อสารไร้สายทั้ง 5G และ 4G ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ดีแทคยังพัฒนาบริการใหม่หลากหลายที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านผู้ใช้งานสู่ชีวิตดิจิทัล

“มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมของปี 2563 ที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้พลิกโฉมการใช้มือถือของประเทศไทย การใช้งานดาต้าในส่วนภูมิภาคโตมากกว่าการใช้งานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 9 เท่า สอดคล้องกับทิศทางการเพิ่มขึ้นของการใช้งานสมาร์ทโฟนเร็วขึ้น ในส่วนภูมิภาคก็เติบโตเร็วกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า ซึ่งส่วนมากโปรแกรมที่มีการใช้งานมาก ได้แก่ ยูทูป ติ๊กต๊อก สไกป์ เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวตอกย้ำว่าผู้ใช้ในภูมิภาคและพื้นที่ห่างไกลหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น”

ดังนั้นดีแทคจึงได้เร่งนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะขยาย 4,400 สถานีฐานทั่วประเทศภายในไตรมาสที่ 1/2564 คลื่น 700 MHz หรือคลื่นความถี่ต่ำมีประสิทธิภาพในการเพิ่มสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น  ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการดีแทคได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ดีแทคได้เปิดโครงการ “เน็ตทำกิน”ช่วยฝึกอบรมผู้ค้ารายย่อย ซึ่งได้รับความสนใจจากร้านค้าจำนวนมาก เพียง 5 วันมีร้านค้ามาสมัครเข้าร่วมกว่า 1,000 คน และโครงการ “เซฟอินเตอร์เน็ต” เพื่อให้ความรู้เยาวชนในการใช้อินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยซึ่งปัจจุบันอบรมเยาวชนไปแล้วกว่า 200,000 ราย

“ในปี 2564-2565 เป็นเรื่องการสร้างอานาคตอย่างยั่งยืน ดังนี้ 1.นำอินเตอร์เน็ตวามเร็วสูงให้เข้าถึงทุกคน 2. พัฒนาระบบนิเวศให้ทุกคนมีส่วนร่วมใช้บริการเน็ตจากบ้านได้ และ3.ปกป้องลูกค้าในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ รวมทั้งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 50% ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573 และลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้เหลือ 0 % ในปี 3 ปี(2565)”

ด้านนายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้กำหนดกลยุทธ์การออกแบบโครงข่ายโดยดูที่พฤติกรรมและแนวโน้มการใช้งานของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยจากข้อมูลของปีที่ผ่านมา เราจะเห็นพฤติกรรมลูกค้า 4 กลุ่ม คือ 1. เน็ตภูธรหน้าใหม่ (THE NEW RURALS) ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากการย้ายถิ่นฐานของคนเมืองและการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของชุมชน โดยต่างจังหวัดมีอัตราเติบโตมากกว่า 9 เท่า เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนยังเพิ่มขึ้น 3 เท่าในภูมิภาค (ข้อมูล ม.ค. 2563-ม.ค. 2564) ซึ่งดีแทคจะเร่งนำคลื่น 700 MHz ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด

2. ขยันผ่านเน็ตทางไกล (THE REMOTE DESKERS) กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปรับตัวรับกับความปกติใหม่โดยทำงานและเรียนที่บ้าน ซึ่งมีความต้องการใช้งานดาต้าจากชุมชนที่พักอาศัย โดยใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อสร้างผลผลิตและการทำงานร่วมกันแม้อยู่คนละพื้นที่ ตามข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 2563-ม.ค.2564 พบว่า งานซูม (Zoom) เพิ่มขึ้น 5050% และกูเกิ้ล แฮงค์เอ้าท์ (Google Hangouts) เพิ่มขึ้น 740%

3. อยู่ติดบ้านด้วยเน็ตบันเทิง (THE NON-STOP STREAMER) จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ หรืออยู่บ้านพบว่ากลุ่มผู้ใช้งานที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแอปพลิเคชันเพื่อบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง และช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านแอปเพื่อตอบโจทย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น อาทิ YouTube และ TikTok ดีแทคเร่งขยายเทคโนโลยี 5G-ready massive MIMO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานดีขึ้น 3 เท่า และเปิดให้บริการ 4G-TDD บนคลื่น 2300 MHz (ให้บริการบนคลื่น NT หรือทีโอที เดิม) อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณ 20,400 สถานีฐาน

4. เน็ตคือหัวใจสำคัญ (THE CRITICAL USER) กลุ่มผู้ใช้งานที่พึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจ ให้บริการแก่ประชาชนและชุมชน เช่น โรงพยาบาลและบริการฉุกเฉิน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจ เป็นต้น ด้วยระบบชุมสาย Virtual Core Network 100% พร้อมรองรับเทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมการสื่อสารแห่งอนาคต ดีแทคยังยืนหยัดการให้บริการทุกสถานการณ์แม้ในยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ นอกจากนี้ดีแทคยังนำคลื่น 26 GHz มาทดสอบใช้งานบริการต่างๆ รวมถึงขยายสู่คลื่น 700 MHz 

นายฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค กล่าวว่า ผู้ใช้บริการมีความคาดหวังบริการที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคล ดังนั้นบริษัทจึงนำระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพได้ดีกว่าข้อเสนอทั่วไปได้มากถึง 3 เท่า รวมทั้งยังเปิดประสบการณ์ บริการที่มีประโยชน์และให้ความบันเทิง ที่มีทั้งเกมและส่วนลดอาหาร รวมถึงประกันสุขภาพและบริการโอนเงิน ทำให้ลูกค้าของเราปลอดภัยและมีความสุข รวมถึงคุ้มค่าในการใช้จ่ายอีกด้วย

สำหรับเทรนด์ผู้บริโภคที่สำคัญ 5 ประการที่สนับสนุนการใช้มือถือในยุคนี้

1. “Digital-First Experiences”  เน้นการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคแบบ Digital First เพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิตตามที่ต้องการในทุกช่วงเวลา จากการที่ผู้ใช้มือถือระบบเติมเงินและผู้ใช้ในชนบทห่างไกลใช้ดิจิทัลมากขึ้น ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับประสบการณ์ดิจิทัลที่ราบรื่นขึ้น  ด้วยประสบการณ์ออนไลน์สู่ออฟไลน์ที่สะดวกสบาย เช่น การซื้อทางออนไลน์และการรับสินค้าในร้าน การให้บริการในภาษาเดียวกับลูกค้า เช่น WeChat mini program แอปในภาษาจีน ดีแทคแอป ภาษาพม่า และรวมถึงรูปแบบการสื่อสารใหม่ถึงลูกค้า เช่น Facebook Live และ Tik Tok

2. “Digital Inclusion” สร้างอัตราเร่งสู่ดิจิทัล ด้วยระบบนิเวศดิจิทัลที่เปิดกว้างสำหรับทุกผู้ใช้งาน บริการดิจิทัลมักถูกออกแบบมารองรับกับมือถือสำหรับอุปกรณ์ที่ดีที่สุด และผู้ใช้งานที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ให้สามารถใช้งานได้จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดีแทคจึงออกแบบประสบการณ์ดิจิทัลที่คุ้มค่าให้กับทุกคน ซึ่งรวมถึง กลุ่มผู้ใช้งานแรงงานต่างด้าว ผู้ใช้งานในต่างจังหวัด ดีแทคยังได้เน้นใช้ช่องทางดิจิทัลในดีแทคแอป โดยมีกิจกรรมจาก dtac reward สำหรับลูกค้าระบบเติมเงิน ที่สามารถสะสม dtac reward Coins แลกสิทธิพิเศษได้อย่างคุ้มค่า

3. “360-degree Personalization” ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ออกแบบข้อเสนอที่ตอบสนองปัจเจกบุคคลให้รอบด้าน ในเวลาและสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องการ ลูกค้าคาดหวังข้อเสนอที่ใช่ ในเวลาที่ต้องการ และสถานที่ที่ถูกต้อง การใช้ปัญญาประดิษฐ์ทำให้ดีแทคมอบข้อเสนอบริการ เฉพาะในรายบุคคลซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าข้อเสนอทั่วไปมากถึง 3 เท่า ทำให้การใช้งานดีแทคแอปรายเดือน เติบโตขึ้น 40% ในปี 2563

4. “New Business Normal” โมเดลธุรกิจวิถีใหม่ ที่รวมพลังพันธมิตรเข้าด้วยกันเพื่อยึดโยงผู้บริโภค ด้วยการมอบคุณค่าของสินค้าบริการที่ให้มากกว่าความคาดหมาย นอกเหนือจากบริการหลักเช่นเสียงและข้อมูลแล้วลูกค้ายังคาดหวังบริการดิจิทัลที่ช่วยให้คุณค่าที่มากขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้นดีแทคจึงแสวงหาความร่วมมือเพื่อนำเสนอบริการใหม่ๆ แก่ลูกค้า เช่น ประกันสุขภาพ ส่วนลดร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต หรือการโอนเงินที่มั่นใจได้

5. “Trust Matters”: แบรนด์ที่มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ คิดดี ทำดี ไว้ใจได้ในทุกบริการ เพื่อให้เกิดความสบายใจสำหรับผู้ใช้ดิจิทัล แบรนด์ต้องได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างเต็มที่ ดีแทคมีมาตรฐานที่สูงมากในการจัดการข้อมูลลูกค้าโดยมีนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับความยินยอมและคู่ค้า ดีแทคให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีบริการที่ช่วยเหลือลูกค้าในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับความท้าทาย เช่น บริการใจดีให้ยืม ใจดีให้โอน และบริการดิจิทัลอื่นๆ