ดีเดย์!! 1 ตุลาคมนี้ เชื่อมโยงข้อมูลใบสั่ง-ค่าปรับ

ขนส่งทางบก จับมือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเดย์! 1 ตุลานี้เชื่อมโยงข้อมูลใบสั่ง-ค่าปรับ หากไม่จ่ายค่าปรับ เสียภาษีไม่ได้ป้ายวงกลม เสี่ยงโดนปรับเพิ่มอีก 2,000 บาท พร้อมเปิดช่องพวกหัวหมออุทธรณ์ใน 30 วัน ด้านตำรวจกำหนด19 ธันวานี้ ตรวจจับพวกผิดกฎจราจรเจอหักแต้ม-ไม่พกใบขับขี่ หวังสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน

นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ถึงความคืบหน้าการเชื่อมโยงระบบใบสั่งจราจร (PTM)ตามที่ได้มีทดลองทดสอบการเชื่อมระบบอายัดทะเบียนรถเมื่อมาชำระภาษีรถประจำปี กรณีที่ประชาชนค้างชำระค่าปรับการกระทำความผิดเกี่ยวกฎหมายจราจรว่า จากการประชุมร่วมกันได้ข้อสรุปว่า การบังคับใช้ว่าด้วยการจราจรทางบกจะเริ่มมีการเชื่อมโยงส่งข้อมูลร่วมกันระหว่าง ตำรวจกับขนส่งทางบกตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62เป็นต้นไป ส่วนประชาชนที่เคยได้รับใบสั่งจากตำรวจย้อนหลังจากวันที่ 1 ตค.62กลับไป1ปี-30กย.61แม้ข้อมูลจะยังไม่เชื่อมในระบบ ประชาชนก็ยังต้องเสียค่าปรับตามใบสั่ง 

จันทิรา บุรุษพัฒน์

อย่างไรก็ตามเมื่อมีผลบังคับใช้แล้วประชาชนที่ได้รับใบสั่งหากไม่ได้ไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ ก็สามารถมาเสียค่าปรับพร้อมกับการเสียภาษีรถประจำปีที่ ขนส่งทางบกได้ เนื่องจากระบบทางตำรวจจะส่งข้อมูลมายังขนส่งทางบกด้วย โดยขนส่งจะบันทึกข้อมูลการชำระค่าปรับในระบบซึ่งระบบจะเชื่อมโยงกับระบบใบสั่งจราจร ซึ่งผู็ขับขี่หรือเจ้าของรถก็จะได้เครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี(ป้ายวงกลม)

ส่วนกรณีประชาชนที่ต้องเสียค่าปรับตามใบสั่งแต่ยังไม่สะดวกที่จะเสียค่าปรับพร้อมกับการเสียภาษีรถยนต์ ในคราวเดียวกัน ทางขนส่งทางบกจะให้เจ้าของรถเสียภาษีประจำปีรถยนต์ได้้ก่อน แต่เจ้าของรถที่เสียภาษีจะไม่ได้ป้ายวงกลม แต่จะได้หลักฐานการเสียภาษีประจำปีชั่วคราว ซึ่งใบที่ออกแทนเพื่อให้เจ้าของรถสามารถแสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อถูกเรียกตรวจได้ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามหากเจ้าของรถถูกเรียกตรวจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อาจจะโดนข้อหาไม่ติดแผ่นป้ายวงกลมหน้ารถได้เช่นกัน ขณะเดียวกันหากเจ้าของรถกลับมาชำระค่าปรับแล้วก็สามารถนำหลักฐานใบเสร็จการชำระมาแสดงเพื่อรับเครื่องหมายป้ายวงกลมฉบับจริงได้ภายหลัง

นอกจากนั้น กรณีเจ้าของรถที่โดนใบสั่ง หากจะปฎิเสธข้อหาของการโดยใบสั่งและไม่ยอมเสียค่าปรับ สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งการอุทธรณ์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องกับศาล หากศาลมีคำสั่งออกมาว่าไม่ผิด ถึงจะหลุดพ้นไม่ต้องเสียค่าปรับได้เช่นกัน

“หากเจ้าของรถไม่ดำเนินการใดๆ กับใบสั่ง และใช้หลักฐานแสดงการเสียภาษีประจำปีชั่วคราว เกิน 30 วัน ก็มีความผิดฐานใช้รถยนต์โดยไม่มีป้ายวงกลม มีโทษปรับ 2,000 บาท ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถแจ้งกรมการขนส่งฯ ให้งดออกป้ายวงกลมสำหรับรถคันดังกล่าวและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต่อไป

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเจ้าของรถจะไม่ยอมชำระใบสั่ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมกรมขนส่งฯ ก็ไม่มีบทลงโทษด้วยการอาญัติป้ายทะเบียนรถอย่างที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้”

สำหรับข้อถกเถียงเรื่องใบขับขี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ในปัจจุบันขนส่งทางบก รองรับใบขับขี่เพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ ใบขับขี่ตัวจริง และใบขับขี่ดิจิทัลบนแอพพลิเคชั่นของกรม ด้านสำเนาใบขับขี่จะใช้ได้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น ใช้เป็นหลักฐานต่อศาล เป็นต้น

ด้านพล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  เผยว่า  ตำรวจและขนส่งทางบกจะเริ่มเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งและการชำระภาษีรถยน์ตั้งแต่ 1 ต.ค.62 เป็นต้นไป แต่หากประชาชนที่ได้รับใบสั่งขณะนี้ก็จะถูกนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับระบบด้วย เพราะระบบจะแสดงใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ ซึ่งตามปกติใบสั่งจะมีอายุความ1ปี อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ จะเร่งประชาสัมพันธ์กับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

อย่างไรก็ตามจากสถิติพบว่า ในปี 61 เจ้าหน้าตำรวจได้มีการออกใบสั่งให้ผู้กระทำผิดกว่า 11.8 ล้านใบ แต่มีผู้ที่ได้รับใบสั่งกลับมาเสียภาษีเพียง 2 ล้านใบ ค้างไม่มาเสียค่าปรับกว่า 9.7 ล้านใบ ได้รับค่าปรับโดยเฉลี่ยกว่า 500 ล้านบาท  ส่วนปี 62 จากต้นปีมาถึงปัจจุบัน ได้ออกใบสั่งไปกว่า 7ล้านใบ มาจ่ายค่าปรับตามใบสั่งเพียง 1 ล้านใบ ค้างจ่ายค่าปรับกว่า 5.9 ล้านใบ  อย่างไรก็ตามพบว่า ในปี61 มีผู้กระทำผิดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง สูงถึง 20% หรือประมาณกว่า 1 ล้านใบ โดยมีการกระทำผิดครั้งเดียวถึง 4 ล้านใบ   

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วน พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.ย.62 นั้น ในเรื่องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาใหม่ในหลายประเด็น ส่งผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและขนส่งทางบกจะต้องร่วมกันออกประกาศ ระเบียบ หรือกฎหมายลูกขึ้นมารองรับภายใน 90 วันหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือไม่เกินวันที่ 19 ธ.ค. 62สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องมีการออกกฎหมายลูก ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์, 2. การกำหนดคะแนนความประพฤติของผู้ขับขี่และแนวทางการฝึกอบรมสำหรับผู้ที่ถูกตัดแต้มและ 3.การใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขนส่งทางบกจะเป็นผู้กำหนดใบขับขี่และตำรวจจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยทั้งหมดจะบังคับใช้ได้ไม่เกินวันที่ 19 ธันวาคม 62 นี้

ด้าน พ.ต.อ.เอกราช ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เปิดเผยว่า มาตรการเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งและการชำระภาษีรถประจำปีมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย และลดอุบัติเหตุทางถนน เพราะ 75% ของอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากการไม่เคารพกฎจราจร โดยประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทางถนนจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบัน มียอดผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 6,954 คน และบาดเจ็บ 4.2 แสนคน เฉพาะช่วงครึ่งเช้าของวันที่ 28 พ.ค. วันเดียว มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 38 รายและบาดเจ็บกว่า 1,000 ราย