“ดีอีเอส”​โชว์ คลาวด์ภาครัฐเพื่อคนไทยรับยุคNew Normal

  • โชว์วิสัยทัศน์โครงการ GDCC
  • สร้างศักยภาพประเทศไทยด้วย Big Data
  • ชี้สร้างประโยชน์มหาศาลให้กับประชาชนและภาครัฐ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทมากโดยเฉพาะจากเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เตรียมพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อก้าวสู่สังคมดิจิทัล ทำให้มีความพร้อมโดยเฉพาะด้านคลาวด์ซึ่งกระทรวงฯ ได้ผลักดัน Cloud First Policy ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีและบริการคลาวด์เป็นอันดับแรก โดยเตรียมพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) รองรับการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐอยู่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมด สอดคล้องกระแสของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่การประมวลผลแบบ “Cloud Computing” อย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำต่างๆเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ที่ได้มีการกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ดังกล่าว

“ยุค New Normal การผลักดันรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยแต่ละประเทศต่างพยายามผลักดันรัฐบาลดิจิทัลเพื่อตอบสนองนโยบาย Social Distancing ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจโดยได้ก้าวเข้ามาสู่กลุ่มประเทศที่มี EDGI  มากกว่า0.75 จัดอยู่ในกลุ่มสูงมากหรือ V1 เป็นครั้งแรกจากผลสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งสหประชาชาติ ปี 2020 โดยยังมีโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และพัฒนา EGDI ของประเทศให้ดียิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะการจัดทำโครงการอย่าง GDCCหรือระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ซึ่งเป็นแผนงานส่วนหนึ่งตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อผลักดัน DIGITAL GOVERNMENT”  

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)  กล่าวว่าโครงการ GDCC ได้เปิดให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ระดับ Cloud Infrastructure ด้วยมาตรฐานการคัดแยกข้อมูล หรือ Data Classification ที่ออกแบบรองรับการนำข้อมูลมาบูรณาการในอนาคตหรือ Data Sharing ระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน รวมถึงระยะยาวที่จะสามารถต่อยอดการจัดการกับ Big Data พร้อมทั้งเปิด Open Data สำหรับข้อมูลบางส่วน เพื่อให้ภาคเอกชน ประชาชน หรือ Startup รุ่นใหม่ๆ ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเหล่านี้เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศในรูปแบบแพลตฟอร์มใหม่ๆมากขึ้น 

นอกจากนี้  การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ Cloud ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตของ Government Cloud Service เติบโตเฉลี่ยที่ 13.4% ต่อปี  สดช.จึงเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆของคลาวด์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่จะสามารถนำระบบ GDCC ไปต่อยอดในอนาคตเพื่อบริการให้กับหน่วยงานภาครัฐโดยคำนึงถึงความต่อเนื่องของการใช้งาน ความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล  ทั้งนี้มุ่งหวังพัฒนา GDCC เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยของประเทศเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของภาครัฐไทยให้เป็นเอกภาพและเห็นผลรูปธรรมอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ ในปี 2563 โครงการ GDCC  มีแผนดำเนินการด้าน Cloud Infrastructure  ให้สามารถรองรับการบริการได้อย่างน้อย 8,000 VM มีมาตรฐานการคัดแยกข้อมูล (Data Classification) ป้องกันข้อมูลไม่ให้รั่วไหล ข้อมูลสำคัญต้องอยู่ภายในประเทศ (Data Localization) ต้องมีการคุ้มครองข้อมูล และความปลอดภัยของข้อมูล  มีระบบนำร่องในทำ Data Sharing มีการเปิดเผยแชร์ใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  (Pilot 15 Datasets) โดยในแต่ละปีจะมีจำนวน Dataset เพิ่มขึ้น ในปี 2564 จะผลักดันในการทำ Data Sharing เป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะหน่วยงานหลักในปี 2565 เราจะต้องมีการพัฒนา Platform 

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)​ หรือ แคท กล่าวว่า โครงการ GDCC ออกแบบสอดคล้องกับโครงสร้างภาครัฐเพื่อรองรับความต้องการการใช้งานต่างระดับ ด้วยแนวคิด House Model ซึ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน และจัดทำเป็นคลาวด์ 3 ระดับ ได้แก่ คลาวด์ระดับกระทรวง คลาวด์ระดับกรม คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) โดยหน่วยงานที่มีระบบคลาวด์มาตรฐานใช้งานอยู่แล้ว สามารถใช้ระบบคลาวด์ปัจจุบันของหน่วยงานเองต่อไปได้ แต่หากหน่วยงานใดไม่ต้องการลงทุนระบบ ก็สามารถมาใช้งาน GDCC ได้ นอกจากนี้หากหน่วยงานใดที่มีความจําเป็นต้องใช้คลาวด์แบบเร่งด่วน หรือเป็นระบบสํารอง DR Site ก็สามารถมาใช้งาน GDCC ได้เช่นกัน