ดาวโจนส์แกว่งตัวแคบอยู่ในแดนลบเล็กน้อยรอสัญญาณการประชุมเฟด

.นักลงทุนกังวลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้น
.แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้น กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
.ตลาดจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด วันนี้

เมื่อเวลา 21.45 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 32,807.38 จุด ลดลง 18.57 จุด หรือ -0.06% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,323.56 จุด ลดลง 148.01 จุด หรือ -1.10%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 3,939.17 จุด ลดลง 23.54 จุด หรือ -0.59%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างปรับตัวลงในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ต่างดีดตัวขึ้นขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.67% ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 13 เดือนในวันนี้

ผลสำรวจของแบงก์ ออฟ อเมริกา ระบุว่า บรรดาผู้จัดการกองทุนมีความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมากที่สุด ตามมาด้วยการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 3

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 2% จะส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลงมากกว่า 10% และหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งแตะ 2.5% จะทำให้นักลงทุนถอนตัวออกจากตลาดหุ้นเพื่อเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตร เนื่องจากมีความน่าดึงดูดมากกว่า

ตลาดจับตาการแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันนี้ เพื่อจับสัญญาณของเฟดเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในขณะนี้

ถ้อยแถลงของนายพาวเวลในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนกำลังกังวลว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจผลักดันให้เฟดยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกราว 2-3 ปี

นักลงทุนกังวลว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นจากการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ด้านสมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์ลดลง 4% ในสัปดาห์ที่แล้ว และดิ่งลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ส่งผลให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 2% ในสัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 10.3% ในเดือนก.พ. สู่ระดับ 1.421 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.560 ล้านยูนิต
ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวทรุดตัวลง 8.5% สู่ระดับ 1.040 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2563 ส่วนการก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัว ซึ่งรวมถึงอพาร์ทเมนท์และคอนโดมิเนียม ดิ่งลง 15.0% สู่ระดับ 381,000 ยูนิต

การอนุญาตก่อสร้างบ้านร่วงลง 10.8% สู่ระดับ 1.682 ล้านยูนิตในเดือนก.พ. การอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวลดลง 10.0% สู่ระดับ 1.143 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัวดิ่งลง 12.5% สู่ระดับ 539,000 ยูนิต