ดาวโจนส์เคลื่อนไหวบวกน้อย 30 จุด ตัวเลขจ้างงานไม่ชัด รอวัดในเฟดลดQE

.ตลาดหุ้นสหรัฐซึมๆ นักลงทุนชะลอซื้อขายรอดูทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
.ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด แต่คนว่างงานลดลง
.ตลาดหุ้นกังวลความไม่ชัดเจน ติดตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจลด QE

เมื่อเวลา 21.55 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,788.13 จุด เพิ่มขึ้น
33.19 จุด หรือ +0.10% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 14,625.78 จุด เพิ่มขึ้น 28.24 จุด หรือ -0.19%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,401.40 จุด เพิ่มขึ้น 1.64 จุด +0.04%

นักลงทุนชะลอการซื้อขายหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและแดนลบ หลังมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญวันนี้ที่มีทิศทางไม่ชัดเจน โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 500,000 ตำแหน่ง หลังจากแตะระดับ 366,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.

อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1% จากระดับ 5.2% ในเดือนส.ค.ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนก.ย. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 317,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 123,000 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.6% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4%

ความไม่แน่นอนของตัวเลขเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์แกว่งตัวแคบ โดยนักลงทุนจับตาการตัดสินใจในการปรับลดวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QE ในการประชุมที่จะถึงนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ถือเป็นโจทย์ยากของเฟดในการตัดสินใจว่าจะถอนการผ่อนคลายนโยบายการเงินตามแผนที่คาดไว้หรือไม่ เนื่องจากรายละเอียดในรายงานตัวเลขจ้างงานฉบับนี้บ่งชี้ทิศทางที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรโดยรวมต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์อยู่มาก แสดงถึงเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางแต่อัตราการว่างงานที่ดีกว่าคาด และอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ก็ได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อตลาดแรงงาน นอกจากนั้น การที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และอาจเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดวงเงิน QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย