ดาวโจนส์เคลื่อนไหวช่วงแคบในแดนลบ วิตกจีน-สหรัฐขัดแย้ง-กำลังซื้อชะลอ

  • นักลงทุนจับตาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และจีนที่เริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น
  • ตลาดติดตามถ้อยแถลงประธานเฟด หวังมีมาตรการเพิ่มเติมกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • คนสหรัฐฯไม่ใช้เงิน พบตัวเลขการออมของชาวอเมริกันพุ่งแตะระดับ 33%สูงสุดในประวัติการณ์

เมื่อเวลา 21.15 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ 25,262.41 จุด ลดลง 138.23 จุด -0.54% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 9,357.39 จุด ลดลง 11.60 จุด หรือ -0.12% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 3,020.51 จุด ลดลง 9.22 จุด -0.30%

ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในภาวะซึมๆ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ท่ามกลางความอึมครึมของเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และจีนเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง ขณะที่คนลดการใช้จ่ายลง และแรงงานที่ยังตกงานจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวแม้จะมีการคลายล็อกดาวน์แล้วในทุกรัฐของอเมริกา

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า มาตรการที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะประกาศเพื่อตอบโต้จีนกรณีฮ่องกงนั้น รัฐบาลสหรัฐมีแผนที่จะยกเลิกวีซ่าของนักวิจัยของจีน รวมทั้งนักศึกษาจีนจำนวนหลายพันคนที่จบการศึกษาในสหรัฐ และมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยของจีนที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้นักศึกษาจีนที่ถูกยกเลิกวีซ่าจะต้องเดินทางกลับประเทศ และผู้ที่อาศัยอยู่นอกสหรัฐจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าสหรัฐ

นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเข้าร่วมการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ในวันนี้ โดยคาดว่านายพาวเวลจะกล่าวถึงมาตรการของเฟดในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ทุกคนกำลังวิตกต่อการเลิกจ้างในสหรัฐฯที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลายบริษัทประกาศล้มละลายเพิ่มเติม แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม

ขณะที่ทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐ ยังเปราะบางและมีโอกาสที่จะทรุดตัวต่อเนื่อง จากกำลังซื้อที่ลดลง สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐ (BEA) รายงานในวันนี้ว่า อัตราการออมส่วนบุคคลของชาวอเมริกันพุ่งแตะระดับ 33% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่ทางสำนักงานเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1960

นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่อัตราการออมพุ่งเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย. มีสาเหตุจากการที่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ร้านค้าจำนวนมากต้องปิดตัวลง และทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากผู้บริโภคยังคงเก็บออมเงินต่อไป แทนที่จะนำเงินไปลงทุน สิ่งนี้ก็จะเป็นปัจจัยกดดันอัตราดอกเบี้ย และจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ