ดาวโจนส์วันแรก เดือน ธ.ค.เปิดในแดนลบ จับตาความคืบหน้ามาตรการกีดกันการค้าสหรัฐฯป่วนโลก

  • นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าจีนและสหรัฐฯ ที่ยังตกลงในเฟสแรกไม่สำเร็จ
  • ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมจากบราซิลและอาร์เจนตินา
  • เศรษฐกิจยูโรโซนยังเปราะบางอ่อนแอต่อเนื่อง

เมื่อเวลาประมาณ 22.25น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวอยู่ที่ 27,905.67 จุด ลดลง145.74 จุด หรือ -0.52% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวอยู่ที่ 3,118.70 จุด ลดลง 22.28 จุดหรือ -0.71% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิท เคลื่อนไหวอยู่ที่ 8,567.39 จุด ลดลง 98.08 จุด หรือ 1.12%

นักลงทุนจับตาความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีการทำข้อตกลงในเฟสแรก หลังจากที่จีนเรียกร้องให้สหรัฐปรับลดภาษีนำเข้าที่ขึ้นไปในช่วงที่ผ่านมาลงก่อนการลงนามรอบใหม่ ขณเดียวกันยังติดตามมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อประเทศอื่นว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกอย่างไรในช่วงต่อไป

โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า เขาจะประกาศเรียกเก็บภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าจากบราซิลและอาร์เจนตินา โดยระบุว่า บราซิลและอาร์เจนตินาได้ทำการลดค่าเงินลงอย่างมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกรของเรา ดังนั้น ผมจะเรียกเก็บภาษีต่อเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้าจากบราซิลและอาร์เจนตินา โดยมีผลบังคับใช้ในทันที

ขณะที่ยังเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้สหรัฐเสียเปรียบต่อประเทศคู่แข่ง
โดยระบุว่า เฟดควรดำเนินการ เพื่อไม่ให้ประเทศต่างๆเอาเปรียบเราด้วยการปรับลดค่าเงิน ขณะที่เรามีดอลลาร์ที่แข็งค่า ซึ่งทำให้ผู้ผลิตและเกษตรกรของเราประสบปัญหาในการส่งออกสินค้า c]tเฟดควรลดดอกเบี้ย และทำการผ่อนคลายทางการเงิน

ขณะที่เศรษฐกิจในยุโรปยังออกมาไม่ดี ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.9 ในเดือนพ.ย. จากระดับ 45.9 ในเดือนต.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัวในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10

ดัชนี PMI ถูกกดดันจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน แม้ว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจฟื้นตัวขึ้น

ทั้งนี้ ภาคการผลิตของเยอรมนี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, สเปน, เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย รวมทั้งอังกฤษ ยังคงเผชิญภาวะหดตัว โดยภาคการผลิตของเยอรมนียังคงอ่อนแอที่สุดในยูโรโซน ส่วนภาคการผลิตของกรีซมีการขยายตัวมากที่สุด

ทางด้านการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ซึ่งรวมถึงรัสเซีย คาดว่าจะตัดสินใจขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2563 และลดการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 400,000 บาร์เรล/วัน ในการประชุมกำหนดนโยบายการผลิต ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5-6 ธ.ค.นี้ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า โอเปกและประเทศพันธมิตรอาจตัดสินใจขยายเวลาการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันออกไปอย่างน้อยจนถึงกลางปีหน้า ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นเกือบ 2 %