ดาวโจนส์ร่วงต่อกว่า 260 จุด กังวลเจรจาเพดานหนี้ไม่สำเร็จ -วิกฤตแบงก์ป่วน

.นักลงทุนกังวลวิกฤตสถาบันการเงินยังไม่จบ หลังพบเงินฝากไหลออกจากธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์

.ตลาดจับตาการเจรจาการขอเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ หลังต้องหารือต่อรอบ 2

.เบาใจเงินเฟ้อยังชะลอตัวล่าสุด ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)ปรับตัวชะลอลงตามคาด

เมื่อเวลาประมาณ 22.15 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,269.97 จุด ลดลง
-261.36 จุด หรือ -0.78% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 12,295.99 จุด ลดลง 10.45 จุด หรือ -0.08% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,122.52 จุด ลดลง 15.12 จุด หรือ -0.37%

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตธนาคาร และการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ
ราคาหุ้นแพคเวสต์ แบงคอร์ป (PacWest Bancorp) บริษัทแม่ของธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ ดิ่งลงอย่างหนักในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของทางธนาคาร

ทั้งนี้ แพคเวสต์ระบุในเอกสารแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ว่า เงินฝากของธนาคารลดลง 9.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ แพคเวสต์ระบุว่า ธนาคารยังคงมีสภาพคล่อง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก FDIC อยู่ที่ระดับ 5.2 พันล้านดอลลาร์

เอกสารดังกล่าวจากแพคเวสต์ที่มีการเปิดเผยในวันนี้ สวนทางกับแถลงการณ์ของทางธนาคารเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งระบุว่า ธนาคารไม่พบการไหลออกของเงินฝากที่ผิดปกติ และเงินฝากได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สิ้นเดือนมี.ค.

นักลงทุนยังกังวล หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ต้องมีการหารือรอบสองในเรื่องเพดานการก่อนหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ฯซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ หลังการเจรจาเมื่อวันอังคารเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ไม่ประสบความคืบหน้าแต่อย่างใด

หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

ราคาหุ้นดิสนีย์ทรุดตัวลงกว่า 5% ในวันนี้ แม้มีการเปิดเผยผลประกอบการที่ดีกว่าคาด แต่นักลงทุนผิดหวังต่อการขยายตัวของจำนวนสมาชิกที่ต่ำกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีปัจจัยบวกบ้าง หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ โดยดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือนมี.ค.เทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%.

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.4% ในเดือนมี.ค.
เทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 22,000 ราย สู่ระดับ 264,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 245,000 ราย ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 12,000 ราย สู่ระดับ 1.81 ล้านราย