ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 123 จุด นักลงทุนซื้อหุ้นคืนหลังดิ่งลงวานนี้

.ตลาดจับตาการประกาศเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ หวั่นพุ่งแรงส่งผลต่อนโยบายเฟด
.นักลงทุนซื้อหุ้นในกลุ่มที่ดิ่งลงแรงวานนี้ รอทำกำไรรอบใหม่
.ข่าวดี วุฒิสภาสหรัฐจะลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายลงทุน 1 ล้านล้านเหรียญฯ

เมื่อเวลา 21.55 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 35,225.27 จุด เพิ่มขึ้น 123.42 จุด หรือ +0.35% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่14,782.82 จุด เพิ่มขึ้น 77.36 จุด หรือ -0.52% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,433.03 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.68 จุด หรือ+0.02%

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐแกว่งตัวผันผวน โดยนักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากดิ่งลงอย่างหนักวานนี้ตามการทรุดตัวของราคาน้ำมัน เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจที่มีแรงเทขายวานนี้ เช่น กลุ่มธุรกิจเรือสำราญและกลุ่มสายการบิน ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ตลาดยังได้แรงหนุนจากความชัดเจนที่มากขึ้นว่า วุฒิสภาสหรัฐจะลงมติให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ตลาดรอดูสถานการณ์การประกาศเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพุธ และเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ในวันพฤหัสบดี

โดยนักลงทุนกังวลว่า หากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่า เฟดจะปรับลดวงเงิน QE ภายในปีนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น

ด้านทิศทางเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยวันนี้ว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.3% ในไตรมาส 2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับตัวเลขประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานในไตรมาส 1 สู่ระดับ 4.3% จากเดิมรายงานที่ระดับ 5.4%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้น 1.9% ในไตรมาส 2 ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1.0% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบรายไตรมาส หลังจากหดตัว 2.8% ในไตรมาส 1