ดาวโจนส์บวก 293 จุดทำลายสถิติสูงสุดเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน

  • นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่เพิ่มขึ้นต่เนื่อง สะท้อนการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ
  • ตลาดกลับมาวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ-จับตาประชุมเฟด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดวันที่ 12 มี.ค.ที่ 32,778.64 จุด เพิ่มขึ้น 293.05 จุด หรือ +0.90%, ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,943.34 จุด เพิ่มขึ้น 4.00 จุด หรือ +0.10% อย่างไรก็ตามดัชนี แนสแด็ก คอมโพพพซิส ปิดที่ 13,319.86 จุด ลดลง 78.81 จุด หรือ -0.59%

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องขานรับประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามในกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดี และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มการขยายตัวสูง

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะมีการปรับลดมาตรการกระตุ้นด้านการเงินลงอย่างรวดเร็ว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.642% ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563

นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีออกมาอย่างต่อเนื่อง และเข้าซื้อหุ้นที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงหุ้นมูลค่าที่ยังมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ตลาดติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟดฉในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ โดยมองว่าการออกมาตรการช่วยเหลือด้านการคลังมากขึ้นในสหรัฐได้ทำให้มีความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2552 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค.

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 1.5% ขณะที่กลุ่มบริการสื่อสาร และกลุ่มเทคโนโลยีลดลง 0.9% และ 0.71% ตามลำดับ

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่อ่อนไหวต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร อาทิ เฟซบุ๊ก, แอปเปิล, แอมะซอน.คอม, เน็ตฟลิกซ์, อัลฟาเบท, เทสลา และไมโครซอฟท์ คอร์ป ปรับตัวลงตามกัน

ด้านมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 83.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 76.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 78.5