ดาวโจนส์ติดลบไม่หยุดยั้ง ลดอีกกว่า 450 จุด กังวลเศรษฐกิจถดถอย

.นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย หลังจีดีพีไตรมาสแรกหดตัวเพิ่มขึ้น
.ตลาดกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำต้นทุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
.ผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

เมื่อเวลาประมาณ 21.40 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 30,570.01 จุด ลดลง
459.30 จุด หรือ -1.48% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 10,934.02 จุด ลดลง 243.87 จุด หรือ -2.18% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,757.08 จุด ลดลง 61.75 จุด หรือ -1.62%

นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 หดตัว 1.6% ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/65 ก็จะทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะฉุดให้เศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันวานนี้ว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงก็ตาม

ทั้งนี้ บรรดาหน่วยงานวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจต่างออกมาระบุถึงโอกาสที่สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดนายแอนดรูว์ บอลส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนระดับโลกของบริษัทแปซิฟิก อินเวสเมนท์ แมเนจเมนท์ โค หรือพิมโค ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ระบุเตือนว่า สหรัฐอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

“การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าที่จะไม่เกิดขึ้น โดยมีโอกาสเกิดขึ้น 50% หรือมากกว่า ซึ่งคุณจะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก ขณะที่ยุโรปมีแนวโน้มเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน และอาจมีโอกาสสูงกว่าสหรัฐ” นายบอลส์กล่าว

ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มแสดงการชะลอตัว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 6.3% ในเดือนเม.ย.เช่นกัน แต่ต่ำกว่าระดับ 6.6% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนม.ค.2525

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และชะลอตัวจากระดับ 4.9% ในเดือนเม.ย.

ด้านการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐลดลง 0.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนพ.ค.
การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากรัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย