ดาวโจนส์ดิ่งกว่า 440 จุด กังวลเงินเฟ้อ-ไม่ผ่านร่างงบประมาณ

. หุ้นสหรัฐปรับตัวลงแรง -ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเดือนก.ย.ร่วง
.นักลงทุนจับตาความขัดแย้งในการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว
.ตลาดกังวลเงินเฟ้อพุ่ง กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ติดตามถ้อยแถลงพาวเวล-เยลเลน

เมื่อเวลา 22.10 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,420.56 จุด ลดลง 448.81 จุด หรือ -1.29% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 14,588.14 จุด ลดลง 381.83 จุด หรือ -2.55% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,363.98 จุด ลดลง 79.13 จุด หรือ -1.78%
Today’s Change

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งทะลุ 1.54%ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. จากความวิตกต่อการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)ในปีนี้ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาหุ้นพลังงานขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ตลาดหุ้นสหรัฐ มีความกังวล และติดตามความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว และการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ หลังจากวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกันได้ขัดขวางร่างกฎหมายร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ บางส่วน ต้องปิดการดำเนินงานในสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากขาดงบประมาณ และรัฐบาลสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

นักลงทุนยังจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งจะกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และเน้นย้ำความสำคัญของการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่าแถลงการณ์ของนายพาวเวลและนางเยลเลนจะระบุเตือนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และสหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

“เงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นในขณะนี้ และมีแนวโน้มยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนที่จะอ่อนตัวลง โดยหลังจากสหรัฐทำการเปิดเศรษฐกิจและเพิ่มการใช้จ่าย เราก็ได้เห็นแรงกดดันของราคาในช่วงขาขึ้น อันเนื่องจากการเกิดภาวะคอขวดของอุปทาน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้รุนแรงขึ้นและกินเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่จะบรรเทาลงในที่สุด และเงินเฟ้อจะอ่อนตัวลงสู่เป้าหมายระยะยาวของเราที่ 2%”

นอกจากนี้ นายพาวเวลจะระบุเตือนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ร่างแถลงการณ์ของนางเยลเลน ซึ่งได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวและเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ

“เป็นเรื่องจำเป็นที่สภาคองเกรสจะต้องแก้ไขปัญหาเพดานหนี้โดยเร็ว เนื่องจากความเชื่อมั่นและอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจะได้รับผลกระทบ ขณะที่สหรัฐจะเผชิญกับวิกฤตทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นางเยลเลนระบุในแถลงการณ์

ขณะที่ทิศทางการฟื้นตัวของสหรัฐยังมีความไม่แน่นอน ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 109.3 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. จากระดับ 115.2 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 114.5