ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนต.ค.หดตัว8.45%

  • เหตุสารพัดปัจจัยโหมกระหน่ำ
  • คาดตลอดท้ังปีนี้จะหดตัวลง3.8%
  • ลุ้นปี63กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) เดือนต.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 95.70 หดตัว 8.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 104.54 ซึ่งเป็นการหดตัวต่ำกว่าคาดการณ์เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยืดเยื้อมานาน 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการค้าโลก ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาที่แข็งค่า ทำให้การผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกหดตัว อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 62.83%


ทั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีเอ็มพีไอปีนี้คาดว่าจะหดตัว 3.8% และอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะหดตัว 1.2% เป็นการหดตัวต่ำกว่าเมื่อเดือนส.ค.ท่ีผ่านมาที่สศอ.คาดการณ์ไว้ที่ 0-1% ส่วนแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2563 ประเมินว่าจะมีปัจจัยบวก จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นักลงทุนจากจีนย้ายสายการผลิตเข้ามาลงทุนในไทย และเทียบกับฐานปีนี้ที่ค่อนข้างต่ำ จึงคาดการณ์ปี 2563 เอ็มพีไอขยายตัว 2-3% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.5-2.5%

“หากจำลองสถานการณ์การผลิตของโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งที่ปิดซ่อมบำรุงให้มีการดำเนินการผลิตได้เท่ากับเดือนก่อนหน้า ดัชนีเอ็มพีไอเดือนต.ค.จะหดตัวลงเพียง 5.77%”

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะขยายตัวในปีหน้ามี อาทิ อุตสาหกรรมอาหารจากความต้องการบริโภคของต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลักรองรับอานิสงส์ของญี่ปุ่น ที่จะเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 และตลาดจีนที่มีคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวโน้มทรงตัว ปิโตรเคมีขยายตัวเล็กน้อยจากราคาและสถานการณ์การส่งออกที่ได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า ผลิตภัณ์ฑยางขยายตัวตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ อุตสาหกรรมพลาสติก และเคมีภัณฑ์ขยายตัวเล็กน้อย

นอกจากนี้ ในปีหน้า สศอ.ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกดิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ผลความคืบหน้ากรณีสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ไทย และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยังไม่มีข้อยุติ และได้มีข้อเสนอและแนวทางรองรับสถานการณ์ในระยะสั้น ให้มีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และดูแลสถานการณ์ค่าเงินเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ส่วนในระยะกลางควรเร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาทักษะแรงงาน หามาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลงทุนจริง