ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจทรุดหนักรอบ18เดือน

  • เหตุสารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าหนัก
  • ทึ้งสงครามการค้า-ส่งออกทรุด-ภัยแล้ง
  • วอนรัฐแก้บาทแข็ง-รับมือภัยธรรมชาติ

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนก.ค.62 ว่า อยู่ระดับ 46.7 ต่ำสุดในรอบ 18 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.พ. 61 เพราะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน, การแข็งค่าของเงินบาท, การส่งออกลดลง, ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ, การค้าชายแดนซบเซา, ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จำนวนมากต้องหันไปกู้เงินนอกระบบเพื่อเสริมสภาพคล่อง  หรือเริ่มลดเวลาทำงานของพนักงาน และไม่รับแรงงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนขององค์กร เนื่องจากสถาบันการเงินได้เข้มงวด หรือปฎิเสธการปล่อยสินเชื่อกรณีที่ผลประกอบการของบริษัทมีปัญหา

“ผู้ประกอบการทั่วประเทศต้องการให้เร่งหารือกับสถาบันการเงินภาครัฐให้ช่วยผ่อนคลายกฎต่างๆ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้มากขึ้น รวมถึงอยากให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก  เพราะมั่นใจว่าหลายธุรกิจยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพียงแต่ต้องเสริมสภาพคล่องในช่วงที่ภาวะการบริโภคซบเซา หากได้เงินกู้ในระบบก็จะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยได้”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าทุกภูมิภาคปรับลดลงทั้งหมด จากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง, ประชาชนมีความเหลื่อมล้ำ, จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาดการณ์, ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น แต่นักธุรกิจในภูมิภาค มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ เช่น การใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้ใช้จ่ายต่อเนื่อง, การขยายตัวของกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวตามนโยบยายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สมาชิกต้องการให้ภาครัฐดูแลปัญหาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพในทิศทางเดียวกับคู่ค้าอื่นๆ  รวมถึงแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ให้ลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ,  ออกมาตรการและวางแผนเฝ้าระวังเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติทุกช่วงฤดูกาลอย่างจริงจัง ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า,  กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนซื้อสินค้าและท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระจายเม็ดเงินให้ได้อย่างทั่วถึง และออกนโยบายที่สนับสนุนเอสเอ็มอีเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น