“ซูเปอร์โพล”ชี้ คนไทย 27 ล้านคนเจอวิกฤตการเงิน

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง จำนวนคนไทย ใน วิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 – 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากการประมาณการทางสถิติกลุ่มประชากรคนไทยอายุ 16 – 85 ปีมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 53,417,480 คน พบว่าการเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต พบว่า ประมาณครึ่งต่อครึ่ง หรือร้อยละ 50/50 ที่บอกว่าเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต กล่าวคือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน คือ จำนวน 26,975,827 คน หรือ ร้อยละ 50.5 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเอง อยู่ในขั้นวิกฤต ในขณะที่ อีกร้อยละ 49.5 ระบุไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

อย่างไรก็ตามเมื่อแบ่งออกเป็นภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนเอง อยู่ในขั้นวิกฤต มากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้คือร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเอง อยู่ในขั้นวิกฤต

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ยังได้ระบุต่อว่า  เมื่อถามถึงข้อกังวล ถ้ามีการแจกเงินดิจิทัลจริง พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 32.7 กังวลต่อความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ พวกมิจฉาชีพ ออนไลน์ รองลงมาคือร้อยละ 32.7 เช่นกัน กังวลภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง ร้อยละ 30.7 กังวลการทุจริตเชิงนโยบาย ร้อยละ 24.2 กังวลการสวมสิทธิ์ ร้อยละ 22.6 กังวลความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ร้อยละ 21.7 กังวล ประชาชนเสียวินัยการเงิน ขาดความรับผิดชอบ ร้อยละ 19.2 กังวล ประชาชนผู้ห่างไกล เทคโนโลยี เข้าไม่ถึงการแจกเงินนี้ และร้อยละ 14.9 กังวลประเทศสูญเสียโอกาส พัฒนาที่ยั่งยืน ตามลำดับ

สำหรับสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ถ้าวันนี้เลือกตั้ง ประชาชนสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเลือกพรรคในรัฐบาล เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม ที่ผ่านมา กับ เดือนกุมภาพันธ์ นี้ พบว่า ประชาชนกลับไปจากฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุน ไปขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ กล่าวคือ กลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 40.5 ในเดือนมกราคม ไปอยู่ที่ร้อยละ 31.2 ในขณะที่ กลุ่มไม่สนับสนุนก็ลดลงเช่นกันคือจากร้อยละ 39.3 ลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 15.4 น่าจะเป็นผลมาจากการที่คนไทยสองกลุ่มเริ่มหันหน้ามาเผชิญหน้ากันในหลายมิติทั้งจากนโยบายรัฐบาลและไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล แต่กลุ่มคนที่ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.2 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ร้อยละ 53.4 ในการสำรวจครั้งล่าสุด