ซีไอเอ็มบีไทยฟันธงแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย0.50%สู้สงครามการค้า-ค่าเงิน

  • ซีไอเอ็มบี ไทยชี้เศรษฐกิจอ่อนแรงจีดีพีปีนี้โตแค่3.3 %
  • มองแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย2รอบเบ็ดเสร็จ0.50%สู้ศึกสงครามการค้า-ค่าเงิน
  • สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายเหลือ1.50%ปีหน้าแตะ1.25%จากปัจจุบัน1.75%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯได้ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปีนี้ ต่อเนื่องไปยังปีหน้า (2563)  โดยปรับทั้งมุมมองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 3.3 % จากประมาณการเดิม 3.7 % สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง และในปีหน้าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.2 %

“การปรับลดจีดีพีรอบนี้มาจากสงครามการค้าที่กระทบการส่งออกของไทย โดยคาดว่าการส่งออกครึ่งแรกของปีจะหดตัว 3% ส่วนครึ่งหลังหดตัวเพียงเล็กน้อย และเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าส่งออกจะหดตัวราว 1% กว่า หากการส่งออกลำบาก จะกระทบกับการลงทุน เอกชนลังเลที่จะขยายกำลังการผลิต เนื่องจากกำลังการผลิตในระดับที่ต่ำทำให้นักลงทุนยังไม่ขยายการลงทุน กลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ ส่วนภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยช่วงครึ่งแรกของปีมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปีแต่ไม่น่าจะฟื้นตัวในระดับแข็งแกร่ง”

สำหรับมุมมองนโยบายการเงิน สำนักวิจัยฯได้ปรับมุมมองนโยบายการเงินอย่างชัดเจน จากสงครามการค้าที่นำมาสู่สงครามค่าเงิน สุดท้ายแล้วธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน กระตุ้นให้เกิดการลงทุน การบริโภค  โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง.จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 รอบ ในระยะเวลา  12 เดือนนับนี้ ซึ่งรอบแรกจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีปรับลดลดเบี้ยจาก 1.75% จะเหลือ 1.5% และภายในปีหน้าจะปรับลดอีกรอบเหลือ  1.25% ภายในปีหน้า หรืออาจจะปรับลดดอกเบี้ย 2 รอบติดต่อกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยเชื่อว่าในระยะสั้นจะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 30.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ้นปีจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเชิงบวกสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ต้องหวังพึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลใหม่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และจะฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พร้อมตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จภายในเดือนก.ค.นี้ สำนักวิจัยฯมองว่ารัฐบาลใหม่จะออกกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 นโยบายหลักๆ ดังนี้ 1.นโยบายดูแลสินค้าภาคเกษตรและกำลังซื้อภาคเกษตร 2.นโยบายค่าครองชีพช่วยผู้มีรายได้น้อยผ่านทางบัตรสวัสดิการภาครัฐ  และ3.การลงทุนภาครัฐ  

“โดยรวมแล้วเราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาให้ได้ เพราะอย่าลืมว่า เรากำลังจะมีการเจรจาการค้า FTA กับต่างประเทศ เป็นเวทีที่เราสามารถผลักดันโอกาสทางเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตรงนี้จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งได้ ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ ประเทศไทยต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน”