“ซีพีเอฟ” ตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตเป็น 0 ภายในปี 2050

  • เดินหน้าลุยใช้พลังงานหมุนสะอาด พลังงานหมุนเวียน
  • ติวเข้มเอสเอ็มอีคู่ค้า ให้รักษาสิ่งแวดล้อม
  • พร้อมประกาศเลิกใช้ถ่านหินภายในเดือนธ.ค.65

นายพีระพงศ์ กรินชัย รองกรรม การผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารชั้นนำของไทยและของโลก ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050 (พ.ศ.2590) เพื่อร่วมขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน และได้มุ่งมั่นพัฒนาอาหารคุณภาพปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีกระบวนการบริหารจัดการองค์กรด้วย BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว)

โดยในปีนี้ ซีพีเอฟ ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ จัดทำข้อมูลของบริษัทเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อที่จะส่งให้ไปองค์กร SBTi (Science Based Target initiative) ในต่างประเทศ วิเคราะห์ว่า จากนี้ไป ซีพีเอฟต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละเท่าไร เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ภายในปี 2590

สำหรับสิ่งที่ซีพีเอฟดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซฯในปัจจุบัน เช่น ไฟฟ้าที่ใช้ภายในฟาร์มปศุสัตว์ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์, ใช้มูลสัตว์ และเศษเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เศษไม้ วัสดุต่างๆ ผลิตพลังงานชีวิมวลที่ใช้ภายในฟาร์ม โดยปัจจุบัน ฟาร์มไก่ ใช้พลังงานหมุนเวียน 70-80% แล้ว และคาดว่า จะใช้ได้ทั้ง 100% ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังเตรียมเลิกใช้ถ่านหิน (Coal Free) ในกระบวนการผลิตภายในเดือนธ.ค.65 และจะหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน

“ซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในไทยที่ประกาศเป้าหมาย การยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% ภายในเดือนธค.นี้ โดยจะหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) 27% ก็จะเพิ่มเป็น 100% โดยจากนำร่องในฟาร์มไก่ ปี 66 จากนั้นจะขยายสู่ฟาร์มเลี้ยงสุกร ปัจจุบัน ซีพีเอฟ ใช้พลังงานหมุนเวียน ถึง 27% ของพลังงานทั้งหมด นับเป็น 1 ใน 5 องค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหารที่ใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดของไทย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 680,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบได้กับการปลูกต้นไม้จำนวน 73 ล้านต้น หรือการลดปริมาณรถบนท้องถนน 150,000 คัน”

สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต ได้แก่ พลังงานชีวมวล (Biomass) พลังงานชีวภาพ (Biogas) และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะผลิตได้ 65 เมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ ในปี 2568

พร้อมกันนั้น ซีพีเอฟจะส่งทีมวิศวกร เข้าไปให้คำแนะนำคู่ค้าของบริษัท ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) หลายหมื่นรายให้มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับทำอาหารสัตว์  ก็หาจากแหล่งผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ช่วยปกป้องพื้นที่ป่าไม้ได้ถึง 2 ล้านไร่ และภายในปี 2573 วัตถุดิบหลักอื่นๆ ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง จะมาจากแหล่งผลิตที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดเช่นกัน โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนตลอดกระบวนการ ขณะที่บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟ ปัจจุบัน มากถึง 90% นำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย

นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมผู้นำภาคเอกชนของเอเปก (APEC CEO Summit) ซีพีเอฟมีโอกาสนำ 2 ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ได้แก่ เนื้อจากพืช Meat Zero และ ไก่เบญจา แบรนด์ U FARM ซึ่งมีห่วงโซ่การผลิตภายใต้เศรษฐกิจ BCG มาเสริ์ฟให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลิ้มลองด้วย