”จุรินทร์” อ้อนปลดไทยออกจากบัญชีถูกจับตา 

  • เหตุไทยมีพัฒนาการแก้ปัญหาละเมิดที่ดีขึ้น 
  • พร้อมขอให้ต่ออายุโครงการจีเอสพีรอบใหม่ 
  • สหรัฐฯจี้ไทยเข้าร่วมกรอบร่วมมืออินโด-แปซิฟิก 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือสองฝ่าย กับ นางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสทีอาร์ (ยูเอสทีอาร์) ว่า  ได้ขอให้สหรัฐฯพิจารณาถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (ดับบลิวแอล) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ที่ยูเอสทีอาร์จะมีการประกาศผลการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาในเดือนเม.ย.66  เพราะที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำงานร่วมกับยูเอสทีอาร์ในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการในการแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทางที่ดีขึ้น 

“ประเทศที่ยังติดบัญชีดับบลิวแอลมีด้วยกัน 19 ประเทศ ซึ่งมีไทยอยู่ในนั้น หากสหรัฐฯพิจารณาปลดออกจากบัญชีนี้ ไทยจะไม่ติดอยู่ในบัญชีใดๆ และจะทำให้สถานะประเทศไทยด้านการให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาดูดีขึ้น และมีภาพลักษณ์ทางการค้า ทางเศรษฐกิจ การลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับหลายประเทศในโลกในอนาคตต่อไป ส่วนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่สหรัฐฯอยู่ระหว่างการต่อโครงการใหม่นั้น ยูเอสทีอาร์อยู่ระหว่างการหารือกับสภาคองเกรสอย่างใกล้ชิด ขณะที่ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯด้านการค้า ลงทุนนั้น จะเร่งรัดให้มีการประชุมครั้งต่อไปที่สหรัฐฯ หลังจากไม่ได้ประชุมร่วมกันมา 2 ปี เพราะสถานการณ์โควิด” 

อย่างไรก็ตาม ยูเอสทีอาร์ขอให้ไทยร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ที่สหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งจะมี 4 เสาหลัก ทั้ง 1.การค้า  2.ห่วงโซ่การผลิต 3.พลังงานสะอาด 4.ปราศจากการทุจริต เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น  ซึ่งไทยแสดงเจตจำนงการเข้าร่วมแล้ว 

นายจุรินทร์ กล่าวต่อถึงการประชุมร่วมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีต่างประเทศเอเปกว่า ที่ประชุมสามารถออกแถลงการณ์ร่วมโดยเห็นชอบให้สมาชิกขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพด้านบีซีจี โมเดล หรือ “Bangkok Goals on BCG Model” เพื่อทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตอย่างยั่งยืน, ขับเคลื่อนความตกลงการค้าเสรีเอเปก เป็นต้น ซึ่งถือว่าการประชุมครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และเป็นความสำเร็จในการทำหน้าที่เจ้าภาพเอเปกของประเทศไทย