“จุรินทร์”เปิดตัวระดับอินเตอร์งานแรก

  • หัวหน้าคณะฝ่ายไทยเจรจา”อาร์เซ็ป”
  • ถ้าจบได้สิ้นปีนี้สู้ศึกการค้าโลกได้แน่
  • ดันไทย-อาเซียนฐานผลิตสินค้าป้อนโลก

”จุรินทร์” เปิดตัวระดับอินเตอร์งานแรก ประชุมระดับรัฐมนตรี “อาร์เซ็ป” ที่ปักกิ่งสิ้นเดือนก.ค.นี้ เผย 4 ประเด็นสำคัญที่ต้องหารือ ทั้ง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์-กฎถิ่นกำเนิดสินค้า-เปิดตลาดสินค้าและบริการ-ระงับข้อพิพาทการลงทุน ที่จะเป็นตัวชี้ชะตาการเจรจาภาพรวมจะจบตามเป้าหมายปีนี้หรือไม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค.นี้ ตนจะเป็นหัวหน้าของไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยตนต้องเป็นทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมด้วย เพื่อเจรจาผลักดันให้ความตกลงสามารถบรรลุผลได้ภายในปลายปีนี้ ตามเป้าหมายของผู้นำทั้ง 16 ประเทศ

”การเจรจามีทั้งหมด 20 เรื่อง และภายในสิ้นปีนี้ สมาชิกตั้งเป้าหมายจะต้องจบให้ได้ทั้งหมด ถ้าสามารถสรุปผลการเจรจาได้ตามเป้าหมาย และความตกลงมีผลบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์กับสมาชิกอย่างมาก โดยเฉพาะในภาวะที่การค้าโลกเกิดสงครามการค้า และหลายประเทศหันมาใช้มาตรการปกป้องกันมากขึ้น นอกจากนี้ อาร์เซ็ปยังเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของอาเซียน ที่ต้องการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน  และขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนรวมทั้งไทยเป็นฐานการผลิตและมีการลงทุนมากขึ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปที่ปักกิ่ง จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ หรือคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป ที่เมืองเจิ้งโจว ประเทศจีนก่อน จากนั้นจะนำผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เข้าสู่การประชุมระดับรัฐมนตรี โดยการประชุมระดับรัฐมนตรี จะมีหัวข้อการเจรจาสำคั ญ 4 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่จะตัดสินว่าการเจรจาจะสามารถหาข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ได้หรือไม่ ประกอบด้วย 1.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 2.กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายการสินค้า ที่ล่าสุดตกลงกันได้แล้ว 79% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าที่ผลิตในไทยไปยังสมาชิกได้มากขึ้น รวมถึงใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบจากประเทศสมาชิกได้มากขึ้นด้วย

3.การเปิดตลาดสินค้าและบริการ ที่ล่าสุดอินเดีย ต้องการให้สมาชิกเจรจากันเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการเปิดตลาดการค้าสินค้าของอินเดีย และการเปิดตลาดบริการของสมาชิกอื่นๆ หลังจากที่อินเดียต้องการให้สมาชิกอื่นเปิดตลาดบริการให้อินเดีย แต่สมาชิกยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของอินเดีย ขณะที่อินเดียยังเปิดตลาดสินค้าให้สมาชิกอื่นน้อยอยู่ และ4.การระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนเอกชนกับรัฐของประเทศที่เปิดให้เข้ามาลงทุน (ไอเอสดีเอส)

อย่างไรก็ตาม การประชุมรัฐมนตรีที่ปักกิ่งมีความสำคัญมาก เพราะหากประเด็นทั้ง 4 เรื่องมีความคืบหน้า และสมาชิกตกลงกันได้ จะทำให้การเจรจาในภาพรวมสามารถสรุปผลได้ในสิ้นปีนี้ และสมาชิกตั้งเป้าหมายจะประกาศความสำเร็จของการเจรจาในเดือนพ.ย.นี้ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ที่กรุงเทพฯ  โดยล่าสุด สามารถเจรจาในภาพรวมได้กว่า 60% แล้ว