“จีซี” เปิดเวที ถอนบทเรียน “สร้างสมดุล เพื่อความยั่งยืน”

  • พบกันวันที่ 12 พ.ย.นี้ ที่สยามพารากอน
  • งานครั้งนี้เน้นหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน
  • มุ่งส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลชุมชน

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า เนื่องด้วยในวันพรุ่งนี้ GC จะมีการจัดงานเสวนา ถอดบทเรียน “สร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืน”​ ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ “GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together” ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน

นายคงกระพัน กล่าวว่า สำหรับความยั่งยืน (Sustainability) คือ การพัฒนาโลกไปพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยการพัฒนานี้ต้องสามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคปัจจุบัน แต่ไม่ทำให้ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลังลดน้อยลง

ทั้งนี้ GC มีวิสัยทัศน์คือ เป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตดังนั้นเรายึดหลักความยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ซึ่งคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (2E1S) โดยนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจในทุกกระบวนการ พร้อมมุ่งมั่นขยายผลสู่สังคมในวงกว้าง ซึ่งGC ได้กำหนดเรื่องความยั่งยืนไว้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของบริษัท

นอกจากนี้ GC เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คือการใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาองค์กรควบคู่กับการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโต และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติได้จริงในทุกด้าน

เริ่มต้นที่ด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่าธุรกิจเติบโตและทำกำไรไม่ได้ หากสิ่งแวดล้อมแย่และสังคมไม่มีความพร้อมที่จะสนับสนุน กำไรไม่ใช่ตัววัดผลความสำเร็จ และความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจ GC มี Business Model: การทำเรื่องความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจ โดยเน้นถึงความร่วมมือ และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันตลอด Supply Chain

ในด้านสังคม โดย GC มุ่งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลชุมชนรอบรั้วโรงงาน ท้องถิ่นจังหวัดระยอง ได้แก่ สนับสนุนภาคการศึกษา การจ้างงาน สร้างอาชีพ การดูแลระบบนิเวศน์ และด้านสาธารณสุข พร้อมขยายผลไปยังระดับจังหวัด และประเทศ หากเกิดสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น การเคียงข้างสังคมไทยรับมือ โควิด-19

ในส่วนด้านสิ่งแวดล้อม GC ก็มุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนบนกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเน้นเรื่อง Climate Change (Greenhouse Gas Emission Reduction) ที่พร้อมสนับสนุนและปฏิบัติตามเป้าหมายของประเทศ และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศที่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างปัญหาขยะ เป็นผู้แก้ปัญหาขยะ และเป็นแบบอย่างในการแก้ไขอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ต้องทำอย่างบูรณาการร่วมกัน

คงกระพัน อินทรแจ้ง

นายคงกระพัน กล่าวต่อว่า คงมีหลายคน มีคำถามว่า ทำไมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงสำคัญ เนื่องด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นกลจักรสำคัญของความยั่งยืน ซึ่ง GC เชื่อในหลักการนี้ จึงดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด GC Circular Living ใน 3 ด้าน อันประกอบด้วย

Smart Operating นำเทคโนโลยีแบบใหม่มาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดย GC มีเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อย GHG จากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2030 และลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือกระจกต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 52% ภายในปี 2050

ทั้งนี้ เป้าหมายของ GC ไม่ได้เป็นการลด GHG จากผลิตภัณฑ์และพลังงานของ GC เองเท่านั้น แต่ในอนาคตเราจะขยายไป Scope 3 ซึ่งครอบคลุม Supply Chain ทั้งหมด รวมไปถึง Smart Office ที่คำนึงถึงการประหยัดทรัพยากร ด้วยการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เบาขึ้น แต่แข็งแรงขึ้น

Responsible Caring วิธีการจัดการ ในการคิดค้น พัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด การนำขยะพลาสติกกลับมา Recycle และUpcycling ให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่นำมาหมุนเวียนให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Loop Connecting การขยายความร่วมมือร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในวงกว้าง และเชื่อมต่อธุรกิจให้ครบวงจร

“GC จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะด้านขยะ น้ำ และอากาศ ของประเทศ มุ่งเน้นให้มีการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ” นายคงกระพัน กล่าว

ทั้งนี้ GC ยังมองว่า กรณีปัญหาขยะพลาสติกนั้น “พลาสติกเองไม่ใช่ปัญหา” แต่อยู่ที่วิธีการจัดการ ดังนั้นการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจรพร้อมสร้างความร่วมมือแบบ Super Collaboration จึงจำเป็น ตัวอย่างที่ GC ทำและประสบผลสำเร็จชัดเจน จับต้องได้ เช่นUpcycling the Oceans, Thailand ซึ่งได้มาตรฐาน BS 8001:2017 และจีวรรีไซเคิลร่วมกับวัดจากแดง

โดย GC เริ่มจากจุดเล็กๆ และขยายผลต่อยอด จากวัดจากแดง สู่ถนน ในโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน จนถึงระดับประเทศ ในโครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ และโครงการความร่วมมือกับกรมอุทยานฯ รวมทั้งการขยายผลไปสู่ภาคการศึกษา (Waste This Way) และกลุ่มคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ในด้านวิกฤติโควิด-19 ก็มีการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งคนไทยและผู้คนทั่วโลก เข้าสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal)

นายคงกระพัน กล่าวว่า ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อประเทศไทย ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการพึ่งพากันในประเทศมีความสำคัญอย่างมาก เมื่อเราถึงจุดวิกฤติที่ไม่สามารถหาอุปกรณ์การแพทย์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น ทำให้ความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหา นั่นคือต่างบูรณาการองค์ความรู้ ทรัพยากรที่แต่ละองค์กรมี จนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือวงการแพทย์ และสังคมไทยในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้

อีกทั้งความร่วมมือกันเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกันสร้างความยืดหยุ่น (Resilience)ให้กับประเทศ นั่นก็คือการที่เราช่วยกันแก้ปัญหา และพาประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ตระหนัก ตื่นตัว และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น นับเป็นความร่วมมือที่ทำให้เราต่างใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค้า แก้ปัญหาได้ถูกจุดและมีประสิทธิภาพ

นอกจากผลกระทบทางด้านการแพทย์แล้ว โควิด-19 ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเพราะทุกคนต้องการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย มีการใช้ Single-Use Plastics มากขึ้นโดยพบว่ามีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น เช่น ขยะพลาสติกจากกล่องอาหารเดลิเวอรี่ สะท้อนว่าเราต้องทำเรื่อง ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น พร้อมทั้งน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

นายคงกระพัน กล่าวว่า ถึงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่ภาระของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่คือจิตสำนึกและความรับผิดชอบของมวลมนุษยชาติทุกคนบนโลก เพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการปฏิวัติทรัพยากรให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ทั้งนี้แนวคิด GC Circular Living จึงเป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาช่วยปลดล็อคโลกของเราจากวิกฤติ ให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การขับเคลื่อนโลกด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน ระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานเสวนา “GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together” จะจัดขึ้นในวันที่ 12 พ.ย.2563  ระหว่างเวลา 08.30-15.30 น. ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ทั้งนี้ผู้สนใจ สามารถลงทะเบียนรับชมออนไลน์ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่  https://www.circularlivingsymposium2020.com

โดยงานนี้จะมี 40 ตัวจริงด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน จากทุกวงการ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในด้านนี้ อาทิ

คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)

คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

โดยจะมาร่วมแบ่งปันความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม การสร้าง Business model เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem)

รวมถึงเป็นการจุดประกายความคิดทั้งในการดำเนินธุรกิจและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การปฏิวัติการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด