จับตามาตรการคลายล็อคเปิดห้างสรรพสินค้า พร้อมเพิ่มปริมาณรถรองรับเต็มพิกัดขนคนกลับบ้าน

ขสมก.-ขนส่ง-รถไฟฟ้า จับตามาตรการคลายล็อคหากเปิดห้างฯ ในเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้มีคนเดินทางในระบบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานห้าง ซึ่งเบื้องต้น ขสมก.ประเมินว่า จะมีคนใช้รถเมล์เพิ่ม 1-2แสนคนต่อวัน โดยทุกหน่วยงานขอภาครัฐออกมาตรการเหลื่อมเวลา และเผื่อเวลาเลิกงานก่อนถึงเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ ขสมก. เผยว่า ขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์หากมีการคลายล็อค เปิดห้างสรรพสินค้าในเดือนพ.ค.นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจทำให้มีพนักงานห้างเดินทางทั่วกรุงอีกเป็นแสนคนต่อวัน โดยอาจทำให้ ขสมก.ต้องปรับแผน เดินรถและเพิ่มปริมาณรถในระบบให้ได้ 95% จากเดิม 70% และห้างสรรพสินค้า จำเป็นต้องเลิกงานปิดทำการ ก่อนเวลาเคอร์ฟิวอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อเผื่อเวลาให้คนเดินทาง และหากพนักงานห้างเลิกงานพร้อมกัน รวมกับมาตรการเว้นระยะห่าง บนรถโดยสาร ที่จำกัดทั้งจำนวนที่นั่ง และคนยืน ก็จะทำประชาชนรอรถนานมากไปด้วย

“ที่ผ่านมาปริมาณผู้ใช้บริการของรถเมล์ ขสมก. มีการขายตั๋วประมาณวันละ 3 แสนคน จากช่วงเวลาปกติ ที่ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 มีผู้โดยสารกว่า 9 แสนคน หากมีการเปิดพื้นที่พาณิชย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าก็อาจทำให้ มีผู้ใช้บริการ ขสมก.เพิ่มขึ้นอีกประมาณวันละ1- 2แสน คน ซึ่งจะทำให้ ขสมก.กลับมาเดินรถเพิ่มขึ้นประมาณ 95 % จึงจะเพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ”นายสุระชัยกล่าว

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า หากมีการเปิดห้างในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการรถเมล์โดยสาร เพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของประชาชน ที่ทำงานเป็นพนักงานในห้างสรรพสินค้า เพื่อเดินทางไป-กลับ ที่พักอาศัยกับพื้นที่พานิชย์เหล่านี้ ดังนั้นนอกจาก ขสมก.จะต้องเดินรถเต็มที่แล้ว กรมการขนส่งทางบกจะมีการขอร่วมมือไปยังผู้ประกอบการรถร่วมบริการ และรถตู้โดยสารให้กลับมาเดินรถช่วย เพื่อให้มีรถเพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็นจนถึงก่อนเวลาเคอร์ฟิว

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ประเด็นที่มีการเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยเฉพาะในส่วนของห้างสรรพสินค้าเพิ่มเติมนั้น ในส่วนของกรมการขนส่งทางรางจะมีการหารือกับระดับนโยบายรวมทั้งผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้ง MRT รถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิ้ง เพื่อจัดระบบการเดินทางให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของประชาชน ซึ่งในเบื้องต้นขณะนี้ยอมรับว่า จะต้องนำมาตรการการเหลือมเวลาการเลิกงานมาใช้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวในการเดินทาง ในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากในขณะนี้ยอมรับว่าการใช้มาตรการ Social Distancing บนขบวนรถ ทำให้ความจุของขบวนรถไฟฟ้าแต่ละขบวน แต่ละตู้ลดลงประมาณ 75% เช่น ตู้โดยสารที่เคยจุผู้โดยสาร 250 คนขณะนี้ก็เหลือแค่ 50 คนเท่านั้น ซึ่งเรื่องการเหลือมเวลานี้จะต้องหารือกับรัฐบาลเพื่อวางแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

ขณะเดียวกันการวางมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งการเว้นระยะห่างในสถานี,บนขบวนรถ,การใส่หน้ากากอนามัย และตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าสถานี ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้นอยู่ต่อไป