จับตา!พายุเข้าไทยอีก1-2ลูก กอนช.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด



กอนช. ชี้ไทยประสบทั้งปัญหาฝนตกน้อย “เอลนีโญ” และฝนตกมากในบางพื้นที่ ต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง ควบคู่ 12 มาตรการรับมือฤดูฝน คาดพายุเข้าไทยอีก1-2ลูก

  • ฝนสะสมในภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังต่ำกว่าค่าปกติ 19%
  • พื้นที่ที่น่ากังวลมากที่สุดยังคงเป็นบริเวณพื้นที่ภาคกลาง

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำว่า อิทธิพลของพายุตาลิม ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศไทย 640 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สถานการณ์น้ำน้อยจึงยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวลโดยปัจจุบันแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 40,655 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 49% ของความจุรวม ในปริมาณนี้เป็นน้ำใช้การ 16,547 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29%โดยขณะนี้ปริมาณน้ำยังเพียงพอต่อการใช้สนับสนุนการเกษตรและทุกกิจกรรมที่ต้องการใช้น้ำ

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า จากผลของสภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้มีฝนตกน้อยในทุกภาค ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนไม่มากนัก ส่งผลให้ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักดังกล่าว มีปริมาณน้ำใช้การเหลือเพียง 3,044 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 17% ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำ ณ วันเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่กว่า 600 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 พบว่า จะมีปริมาณน้ำ 44,278 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 62% เป็นน้ำใช้การ 20,735 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 44% ซึ่งน้อยกว่าปริมาณน้ำในปี 2565 ค่อนข้างมาก กอนช. จึงได้กำชับทุกหน่วยงานในการดำเนินการแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า

ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมในภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังต่ำกว่าค่าปกติ 19% รวมถึงปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนของปีนี้ก็ยังคงต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่สูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ซึ่งภาคใต้ยังอยู่ในระยะที่คาดว่าจะยังคงมีฝนต่อเนื่อง สถานการณ์เช่นนี้จึงส่งผลให้บางพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาฝนตกน้อย ขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ที่น่ากังวลมากที่สุดยังคงเป็นบริเวณพื้นที่ภาคกลาง ในขณะที่บางพื้นที่มีฝนตกมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในบางแห่ง แต่สถานการณ์ในระดับพื้นที่ยังคงรับมือได้

สำหรับสถานการณ์ของ “พายุทกซูรี (Doksuri)” ซึ่งขณะนี้อยู่บริเวณหัวเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ มีทิศทางเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศจีนด้านตะวันออก ซึ่งจะไม่มีอิทธิพลกับประเทศไทยโดยตรง แต่จะช่วยดึงให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกบริเวณขอบของประเทศ ในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก แต่ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ กอนช. ได้ติดตามแผนที่อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องความกดอากาศหรือร่องความกดอากาศต่ำที่จะมีอิทธิพลช่วยทำให้เกิดฝนตกในประเทศไทย ปัจจุบันขยับขึ้นไปอยู่บริเวณเหนือประเทศไทยแล้ว จากลักษณะของสภาพอากาศดังกล่าว จึงคาดว่าในช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. 2566 ฝนจะตกน้อยลงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ฝนจะเริ่มกลับมาตกมากขึ้นในช่วงวันที่ 29-31 ก.ค. 2566 ซึ่ง กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวัง พร้อมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์แล้ว นอกจากนี้ ยังได้ออกประกาศแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดจากฝนตกในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำโขงด้วย” นายบุญสม กล่าว

นายบุญสม กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ยังมีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยได้ 1-2 ลูก ซึ่ง กอนช. ยังคงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด ทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ซักซ้อมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ต่าง ๆ เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดผักตบชวา รวมถึงสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ ฯลฯ ควบคู่ไปกับการเตรียมกักเก็บน้ำในอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อยให้ได้มากที่สุดและวางแผนการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเกษตรในช่วงฤดูฝนให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เพื่อเตรียมรับมือทั้งสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ