ความเหมือนในมุม“แตกต่าง”

หนทางหลุดพ้นความยากจน

ตั้งแต่จำความได้ในฐานะที่เกิดเป็นลูกเกษตรกรพื้นเพอยู่ในพื้นที่ภาคกลางที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดี จะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำประมงได้ทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ “กระบวนการคิด”

​ที่บ้านจะเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวบ่อยมาก ทั้ง ทำนา ปลูกอ้อย เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ปลูกผัก ทำสวนมะม่วง ส้มโอ มะนาว ปลูกกล้วย 

เมื่อครั้งเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สร้างรายได้ให้ครอบครัวดีมาก เพราะยุคเริ่มต้นมีคนเลี้ยงไม่กี่ราย กุ้งแข็งแรงโตดี จับกุ้งขายแต่ละงวดได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ข่าวแพร่กระจายไปในหมู่บ้านลามไปถึงตำบลและอำเภออย่างรวดเร็วว่าเลี้ยงกุ้งแล้วรวย

เพียงไม่นานหลายบ้านกู้หนี้ยืมสินมาขุดบ่อเลี้ยงกุ้งกันเป็นทิวแถว คนที่รวยคือคนขายพันธุ์และอาหารกุ้ง ที่ผลิตขายแทบไม่ทัน และท้ายที่สุดคุณภาพของลูกพันธุ์กุ้งที่ขายก็ต่ำลงเรื่อยๆ ตัวเล็กลง คนเพาะพันธุ์รีบขายทั้งที่อายุยังไม่ถึงวัยที่แข็งแรงเพียงพอ ทำให้อัตราการรอดตายต่ำลง

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ “ปัญหาน้ำเสีย” ซึ่งการเลี้ยงกุ้งระบบน้ำต้องดี สะอาด หากน้ำเสียมีปริมาณอ็อกซิเจนต่ำ มีสิทธิ์ที่จะเจ๊งเพียงข้ามคืน เพราะกุ้งอาจจะน็อคตายทั้งบ่อ 

หลังจากที่เกษตรกรแห่มาเลี้ยงกุ้งกันมากขึ้น ต่างก็ระบายน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลองผสมกับน้ำดี  เมื่อต้นน้ำระบายน้ำเสียลงมา คนเลี้ยงกุ้งทางกลางน้ำและปลายน้ำก็สูบน้ำเข้าบ่อ หารู้ไม่ว่าสูบเอาน้ำเสียและโรคจากบ่อต้นทางเข้าไปเต็มๆ หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาโรคระบาดกุ้ง กุ้งตัวเล็กเลี้ยงไม่โต กุ้งตายยกบ่อ 

เกษตรกรกลับมาเป็นหนี้เป็นสินหนักกว่าเดิม อาหารชิ้นสุดท้ายที่กุ้งกินก็คือ “โฉนด” เกษตรกรต้องขายที่ดินเพื่อใช้หนี้

ไม่ใช่เฉพาะการเลี้ยงกุ้งเท่านั้นที่ทำตามกัน ยิ่งเป็นพืชระยะสั้นอย่างมะนาวหรือกล้วย ถ้าปีไหนราคาดี ปีต่อมาจะแห่ปลูกกันเต็มไปหมด จนราคาหน่อพันธุ์กล้วย หรือกิ่งพันธุ์มะนาวแพงขึ้นเท่าตัว แต่หลังจากนั้นเมื่อผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมาก ราคาก็ตกจนไม่คุ้มทุน ก็ต้องแห่กันฟันต้นมะนาว ต้นกล้วยทิ้งกันอีกรอบ นอกจาก “ตอ” ที่เหลือติดดินอยู่ให้เห็นตำตา ก็ยังมีหนี้ก้อนโตพ่วงมาด้วย

หากแบ่งหน้าที่กันทำ วางแผนกันผลิต ไม่ทำตามๆกันแบบไม่ลืมหูลืมตา ทุกคนก็จะมีเส้นทางตามที่ตนเองถนัด มีประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น “ปราชญ์” ในด้านนั้นๆ เมื่อเห็นว่าผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการจึงค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นในปริมาณที่ใกล้เคียงกับความต้องการค่อนไปทางน้อยกว่า ต้องมีกระบวนการกลุ่มที่ปรึกษาหารือกัน จำกัดปริมาณพร้อมกับสร้างคุณภาพไปในตัว

การปรับกระบวนการคิดเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรรอดพ้นความยากจน เพราะปัญหาใหญ่ไม่ได้เกิดจากความสามารถในการผลิตของเกษตรกร เกษตรกรไทยผลิตเก่งมากไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ที่ควบคุมไม่ได้คือ ปัญหาราคาตกต่ำ เพราะผลผลิตล้นตลาด ถูกกดราคาจากพ่อค้าที่รวมหัวกัน โดยเฉพาะพืชหลักอย่าง ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง

“ผึ้ง”อยู่รอด สร้างรังได้แข็งแรงใหญ่โตก็เพราะแบ่งหน้าที่กันทำตามที่ตนเองถนัด ซึ่งแม้จะ“แตกต่าง”กัน แต่ก็เติมเต็มในส่วนที่ขาดให้กันและกัน 

อาชีพเกษตรก็เช่นกัน หากทุกคนคิดเหมือนๆกันคือมองหาและทำสิ่งที่ “แตกต่าง” เพื่อจะได้สร้างโอกาสเติมเต็มให้กันและกัน ไม่ใช่แห่ทำตามๆกันจนกลายเป็นความเหมือน หรือ“เกษตรแปลงใหญ่” ที่สุดท้ายต้องตกเป็นทาสพ่อค้านายทุนอยู่วันยังค่ำนั่นเอง

                                              คนชายขอบ