คลัง หนุนนอนแบงก์ พักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย 6 เดือน

  • ให้ออมสินปล่อยกู้ซอฟต์โลน 80,000 ล้า
  • นอนแบงก์ยันชี้ยึดรถ-ยึดมอเตอร์ไซค์ลูกหนี้

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย(ซอฟต์โลน) ให้กับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) นั้น ได้สั่งให้ธนาคารออมสิน ดำเนินการ ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 80,000 ล้านบาท ให้กับนอนแบงก์ ในอัตรา 0.01 % เพื่อให้นำไปปล่อยต่อในอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี ส่วนจะให้นอนแบงก์แต่ละแห่งกู้เท่าไหร่นั้น ธนาคารออมสินจะออกเกณฑ์เพื่อกำหนดวงเงินกู้ตามประเภทธุรกิจนอนแบงก์อีกครั้ง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้พูดคุยกับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ได้แก่  สมาคมลีสซิ่งไทย จำนวน  33 บริษัท สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ชมรมบัตรเครดิต และชมรมสินเชื่อส่วนบุคล เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน  6 เดือน ในลักษณะเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์

“อย่างไรก็ตามธุรกิจนอนแบงก์ ยินดีที่จะดำเนินการพักเงินต้นและดอกเบี้ยตามนโยบายของรัฐบาล  โดยไม่มีนโยบายยึดรถยนต์และยึดมอเตอร์ไซค์ของลูกหนี้คนใด หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ให้กับธุรกิจนอนแบงก์ เพราะรายได้ของธุรกิจมาจากดอกเบี้ย ถ้าดำเนินการพักหนี้และดอกเบี้ยตามมาตรการของรัฐบาล บริษัทจะไม่มีเงินรายได้เข้ามาเลยช่วงที่ช่วยเหลือลูกค้า”

 ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงได้เห็นชอบให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน  วงเงิน 80,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับนอนแบงก์ จากวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 150,000 ล้านบาท โดยจะให้ทางผู้ประกอบการนอนแบงก์ เข้ามาใช้สินเชื่อในลักษณะเดียวกับธนาคารอื่นๆ ที่เข้ามาขอใช้ซอฟต์โลนกับธนาคารออมสิน

“สินเชื่อซอฟต์โลนที่ธนาคารอออมสิน จัดสรรให้กับธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว จะมีการดึงกลับคืนมาเพื่อนำมาปล่อยให้กับนอนแบงก์แทน เนื่องจากเงื่อนไขสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จำนวน 500,000 ล้านบาท ที่ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.01% ต่อปี มีเงื่อนไขที่ดีกว่าธนาคารออมสินให้ เพราะมีการชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน  60-70% หากกลายเป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)ดังนั้นจึงจะให้ธนาคารพาณิชย์ไปใช้สินเชื่อของธปท.”

ทั้งนี้เงื่อนไขของพ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการพักหนี้และลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน  สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต