“คลังเล็งเสนอขอวงเงิน 60,000 ล้านบาท” จากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีถึง 6 เท่า

  • คำ้ประกันสินเชื่อสูงถึง 360,000 ล้านบาท
  • อุ้มเอสเอ็มอีค้างค่างวด 300,000 ล้านบาท

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า  ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ไปดูว่าหากขอเงินกู้จากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 1 ล้านล้านบาทดังกล่าวมาให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ใช้ค้ำประกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) จำนวน 60,000 ล้านบาท จะขัดต่อวินัยการเงินการคลังหรือไม่  ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยจะสามารถช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับ เอสเอ็มอีได้สูงถึง 6 เท่า หรือสามารถค้ำประกันสินเชื่อได้ถึง 360,000 ล้านบาท

  ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น แบ่งวงเงินเป็นสองส่วนคือ ก้อนแรก 600,000 ล้านบาท เพื่อใช้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้จ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่มีอาชีพอิสระคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงใช้เพื่อลงทุนในระบบสาธารณสุขของประเทศ  และก้อนที่สองวงเงิน 400,000 ล้านบาท เป็นงบเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาทิ การทำโครงการสร้างงาน ซึ่งหน่วยราชการต่างๆ จะต้องเสนอโครงการให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ กลั่นกรองก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ

 นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของ บสย. กล่าวว่า วงเงินที่จะขอจากพ.ร.ก.เงินกู้ดังกล่าว อีก 60,000 ล้านบาท เพื่อช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีนั้น จะมาจากงบเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท  ซึ่งไม่น่าจะขัดกับวัตถุประสงค์ของสภาพัฒน์ที่ต้องการใช้งบก้อนนี้เพื่อสร้างงานในประเทศ

  “หากได้เงินกู้ก้อนนี้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท จะสามารถเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีในกลุ่มที่ค้างชำระค่างวดติดกัน 30-90 วันของสถาบันการเงินได้  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 700,000 ล้านบาท ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ  300,000 ล้านบาท

ทั้งนี้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินทั้งระบบมี 17 ล้านล้านบาท โดย 1 ใน 3 หรือประมาณ  6  ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งมีการจ้างงาน 70% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ได้ถึง 40 % ส่วนปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของเอสเอ็มอี ในไตรมาสที่สองอยู่ที่ 6.5% จากสิ้นปีที่แล้วที่อยู่ที่ 5.6 %   

  อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บสย.ได้รับวงเงินจาก พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (Soft loan)  ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน  57,000 ล้านบาท เพื่อนำมาค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี  ซึ่งคาดว่าจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ 34,000 ราย และช่วยรักษาการจ้างงานราว 360,000 ตำแหน่ง