คมนาคม จับมือ “รฟท.- รฟม.” ลงนามร่วมศิริราช ก่อสร้าง “สถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล”



  • เล็งพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570
  • รองรับผู้ใช้บริการการแพทย์ เดินทางได้สะดวก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วม ศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้บริหารในสังกัดกระทรวงคมนาคม  และศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธี

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ เร่งรัด ผลักดัน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา

โดยในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งจะมีการก่อสร้างสถานีร่วมระหว่างรถไฟฟ้า 2 สาย ที่สถานี ศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล   เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางที่สำคัญ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป ผู้เข้ารับบริการรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ภายในและโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชอย่างยั่งยืน

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาล ระหว่าง 2 หน่วยงาน  และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีความตกลงในเรื่องรูปแบบขอบเขตความรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายและแผนการดำเนินงาน ภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ และคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน รวมถึงกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย 

 สำหรับอาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้นมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 55,057 ตารางเมตร แบ่งเป็น พื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตารางเมตร พื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570 เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การบริการAmbulatory Unit/ One Day Surgical   โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง รวมถึงบริการตรวจ  ทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบาย

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงเอกสารประกวดราคา  และราคากลาง และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 พร้อมเปิดให้บริการ ในปี 2570 ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยดำเนินการตามแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับโครงมูลค่าลงทุนโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในส่วนโครงการ ส่วนต่อขยาย สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะมีมูลค่าการลงทุน 6,000 ล้านบาท สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะใช้งบลงทุนรวม ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบเดินรถ รวม 120,000 ล้านบาท และตัวอาคาร 15 ชั้น ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท จะต้นโครงการต้นแบบ ไปยังโครงการอื่นๆ ในเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ก่อสร้างโครงการที่เกิดประโยชน์สูงสุด