คมนาคมโชว์สารพัดผลงาน1ปีครบหมดทุกโหมด”บก-น้ำ-ราง-อากาศ”

สรุปผลงาน 1 ปี 1-2 ส.ค.นี้ ยันเดินหน้าทำงานต่อเนื่อง ลุยโชว์ผลงาน “ลดค่ารถไฟฟ้า-ใช้ยางพารา-แก้จราจรพระราม 2-ลดฝุ่น Pm 2.5” พร้อมชง ครม.ไฟเขียว O&M มอเตอร์เวย์ 2 สายสัปดาห์หน้า ฟากไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 2.3 จ่อลงนามภายใน ต.ค. 63

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 1-2 ส.ค. 2563 นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop) ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีตน พร้อมด้วยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ, นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานเข้าร่วม เพื่อพิจารณาและสรุปผลการดำเนินงานครบรอบ 1 ปี หลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ในการ Work Shop ครั้งดังกล่าวนี้ จะมีการแบ่งกลุ่มครบทั้ง 4 มิติ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ โดยจะมีการสรุปการดำเนินการให้ชัดเจนในตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งโครงการต่อเนื่อง โครงการใหม่ รวมถึงทบทวนข้อร้องเรียนของประชาชนว่า มีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง ก่อนที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2564 ต่อไป

สำหรับผลงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ อาทิ การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน โดยการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ สูงสุด 20 บาท นอกจากนี้ ยังมีผลงานการนำยางพารามาเป็นวัสดุหลักในภารกิจของกระทรวงคมนาคมทั้งแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางพาราชาติ (RGP) เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

ขณะเดียวกัน ยังได้แก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบริเวณทางหลวงพิเศษหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) โดยได้มีการวางแผนการดำเนินการรองรับการจราจรในช่วงระหว่างการก่อสร้างที่ 2 โครงการใหญ่บนถนนเส้นดังกล่าว  ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม2 สายธนบุรีปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัยของกรมทางหลวง (ทล.) และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (สัญญาที่ 2) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทั้งนี้ จะมีการลงพื้นที่ เพื่อไปตรวจสอบการดำเนินการในวันที่ 18 ก.ค.นี้ด้วย รวมถึงกระทรวงคมนาคมยังได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยการฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในวันที่15 ก.ค. 2563 กระทรวงคมนาคม ได้จัดงานนิทรรศการและการเสวนา “MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19” พร้อมทั้งการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1 โดยกระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการใน 4 มิติ และยึดหลักบริหารงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีการเชื่อมต่อกับมิติอื่นๆ สอดรับกับความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อกระจายความเจริญในทุกภูมิภาค อาทิ การเชื่อมต่อการคมนาคมในเส้นทางภาคใต้ ตามที่ได้มีการอภิปรายในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาด้านคมนาคมและโลจิสติกส์นั้น จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของชาติ สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแรง เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน 

“ถ้าวันนี้เราไม่ได้คิด ไม่ได้เริ่ม หรือพิจารณาดำเนินการ เชื่อว่าจะเสียโอกาส ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ไทยเป็นเสือตัวที่ 2 ของเอเชีย แต่หลายสิ่งได้หยุดอยู่กับที่ และมีประเทศอื่นๆ แซงหน้าไปแล้วนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้เดินหน้าพัฒนาโครงการต่างๆ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมอย่างแข็งแรง” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินการนั้น จะครอบคลุมทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เช่น การเร่งรัดโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยในส่วนความคืบหน้าของการดำเนินงาน และบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ของมอเตอร์เวย์ 2 สายนี้นั้น คาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญากับเอกชนทันที

ส่วนการพัฒนารถไฟทางคู่ ที่จะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน, การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งในส่วนของสัญญา 2.3 นั้น คาดว่าจะมีการลงนามในช่วง ต.ค. 2563 อีกทั้ง จะมีการการบูรณาการมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ ซึ่งนำต้นแบบมาจากต่างประเทศในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการของนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยจะบูรณาการรวมกว่า 6000 กิโลเมตรทั่วประเทศ แบ่งเป็น แนวเส้นทางเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง และตะวันตก-ตะวันออก 5 เส้นทาง ซึ่งจะมีการศึกษาแผนแม่บท (MR-Map) โดยจะใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ในปี 2564

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าพัฒนาโลจิสติกส์ทางน้ำ โดยการขยายท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาท่าเทียบเรือขนาดใหญ่และท่าเทียบเรือน้ำลึก เชื่อมการเดินทางขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะใช้งบประมาณในการศึกษา 75 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสร้างความเจริญให้กับประเทศ และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ การคมนาคมทางอากาศนั้น จะเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยาน ยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 180 ล้านคนต่อปีในอนาคต