ข่าวดี! “วัคซีนจุฬา”ป้องกันโควิดของไทยทดลองอาสาสมัครกลุ่มแรกแล้ว ไม่มีผลข้างเคียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ได้เริ่มทำการทดสอบวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย “ChulaCov19” (จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน)​ เฟสแรกในมนุษย์แล้ว โดยได้รับใบสมัครจากคนไทยกว่า 10,000 ราย โดยในจำนวนนี้คัดเลือกเหลือ 72 คน

สำหรับการทดสอบทางคลินิก (ทดลองในมนุษย์) ระยะที่ 1 นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มแรก อายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน และกลุ่มสอง อายุ 65-75 ปี จำนวน 36 คน และเริ่มต้นจากการฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดี 4 รายแรกก่อน หลังจากฉีดให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นอีก 3 วันจึงจะเริ่มดำเนินการทดสอบกับอาสาสมัครคนอื่นๆ

“ในกลุ่มข้างต้นจะแบ่งการทดลองขนาดของวัคซีนแตกต่างกัน คือ 10, 25 และ 50 ไมโครกรัม เพื่อทดสอบว่าปริมาณเท่าใดจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและผลข้างเคียงน้อยที่สุด และเว้น 3 สัปดาห์ก่อนรับวัคซีนเข็มที่ 2”

ทั้งนี้จะดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดจะตรวจในสัปดาห์ที่ 3 หลังฉีดเข็มแรก และตรวจอีก 2 ครั้งคือ 1 อาทิตย์ และหนึ่งเดือน หลังฉีดเข็มที่ 2 หลังจากนั้นจะมีการเปรียบเทียบผลการทดสอบจากผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับคนไทย โดยขณะนี้ได้รับผลเลือดเรียบร้อยแล้ว

“อย่างไรก็ตามผลจากการทดลองฉีดให้อาสาสมัครจำนวน 4 ราย ในเบื้องต้นอาสาสมัครทั้งหมดไม่พบผลข้างเคียงใดๆ”

ศ.นพ.เกียรติ อธิบาย กระบวนการทดสอบวัคซีนเพิ่มเติมว่า หากผ่านการทดสอบระยะแรกปลายเดือน ก.ค. ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการทดสอบในอาสาสมัครอีก 150 คนได้ในช่วงเดือน ส.ค.นี้

ส่วนการทดสอบในระยะที่ 3 นั้น อาจไม่จำเป็นต้องทดสอบในอาสาสมัคร 20,000 รายในประเทศที่กำลังเกิดการระบาด ตามเกณฑ์ของการทดลองวัคซีนชนิดใหม่ เนื่องจากเมื่อมีวัคซีนอื่นที่ผลิตชนิดเดียวกันแล้ว มีแนวโน้มว่าภายในสิ้นปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) จะกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า “วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไหร่” ก็จะช่วยลดขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 3 ได้

ทั้งนี้หากได้รับการยกเว้นการทดสอบระยะที่ 3 และผ่านเกณฑ์ที่กำหนด วัคซีน “ChulaCov19” อาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อให้ในคนจำนวนมากได้ประมาณเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. 2565

สำหรับวัคซีน “ChulaCov19” ถูกคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย ด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจาก นัก วิทยาศาสตร์ระดับโลกผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้คือ Professor Drew Weissman, มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับวัคซีน Pfizer และ Moderna ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทั่วโลกที่มีการรับรองในการฉีดกว่า 600 ล้านโดส ทั่วโลก

mRNAจะสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนดังกล่าว จะทำการสร้างโปรตีนและกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อ โควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือเกิดอาการหรือเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้

ทั้งนี้การพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยนี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เช่น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย

สำหรับการเก็บรักษาพบว่าวัคซีน “ChulaCov19” สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น

ส่วนการทดลองในสัตว์ ก่อนจะนำมาฉีดให้มนุษย์นั้น ศ.นพ.เกียรติ ระบุว่า ผลการทดลองในหนูทดลอง พบว่าการฉีดแม้เป็นเพียงโดสต่ำๆ แต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ “สูงมากจนน่าตื่นเต้น” และเมื่อนำไปทดสอบในลิงก็พบว่าสามารถสร้างภูมิได้สูงมากเช่นกัน

นอกจากนี้ยังได้ทำการทดลองในหนูพันธุ์พิเศษ โดยใส่เชื้อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจของหนูที่ได้รับการฉีดวัคซีน พบว่าสามารถป้องกันไม่ให้หนูป่วยและเชื้อเข้ากระแสเลือดได้ 100% และยังพบว่าเชื้อที่ใส่เข้าไปในจมูกและปอดลดลงกว่า 10 ล้านเท่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก workpointToday https://youtu.be/Fw-crMcqd0U