“ก.ท่องเที่ยว” โชว์ความสำเร็จประชุมเอเปคท่องเที่ยวปี’65 ชู “ตลาดน้อย-สามพราน”ต้นแบบ BCG ดันเอเชียเที่ยวยั่งยืน

  • “รมว.พิพัฒน์ รัชกิจประการ” นำไทยเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว
  • ระดมคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจลงพื้นที่ชมความสำเร็จ BCG โมเดล 2 ชุมชน “ตลาดน้อย กทม.+สามพรานโมเดลนครปฐม”
  • หนุนประเทศผลักดันแนวคิด “Regenerative Tourism : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน”
  • ปลุกสมาชิกทั่วเอเชียแปซิฟิกขับเคลื่อนอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโตยั่งยืน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ต้อนรับคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจ ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยวพ.ศ. 2565 จึงได้มีนโยบายให้หน่วยงานในกระทรวงการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมนำคณะของเอเปคลงพื้นที่เยี่ยมโมเดลความสำเร็จ 2 แห่ง คือ ตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร และ สามพรานโมเดล จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นต้นแบบโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนสีเขียวหรือ BCG : Bio-Circular-Green Economy ตามที่ประเทศไทยได้ผลักดัน“Regenerative Tourism : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน” ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมอยู่ในการประชุมครั้งนี้ด้วย

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 องค์กรจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม 2 เส้นทาง คือ

เส้นทางแรก City Trip ที่ “ชุมชนตลาดน้อย ย่านเจริญกรุง” นำเสนอการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น ด้วยสถาปัตยกรรมงดงามแบบไทย จีน และชาติตะวันตก โดยได้แวะตรอกศาลเจ้าโรงเกือก ศาลเจ้าโจวชือกง โบสถ์กาลหว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาแรกของประเทศไทย รวมถึงการเดินชมสตรีทอาร์ทตามตรอกซอกซอยของตลาดน้อยชุมชนที่มีเสน่ห์ที่จะสร้างประทับใจกับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

พร้อมกับเพิ่มประสบการณ์ให้คณะเอเปคด้วยบริการ Thai Bus Food Tour นั่งรถชมทัศนียภาพรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร มื้อกลางวันได้เสิร์ฟเมนูระดับมิชลิน และส่งท้ายวันแรกด้วยการเข้าร่วมเรียนรู้ภูมิปัญญาการนวดแผนไทยวัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาใช้บริการ

เส้นทาง 2 Local Trip “สวนสามพราน-ศาลายา” จังหวัดนครปฐม นำผู้เข้าร่วมประชุมชุดนี้ลงพื้นที่สัมผัสวิถีชุมชนเกษตรอินทรีย์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น สำรวจฐานการเรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ สร้างความเข้าใจแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมสอดคล้องกับแนวคิด Regenerative Tourism รวมทั้งยังเชิญชวนให้ทดลองลงมือทำกิจกรรมสอนปรุงอาหารไทยจากวัตถุดิบออร์แกนิกสดจากฟาร์ม ประดิษฐ์ของที่ระลึกจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ และ ถุงผ้าตอกลายดอกไม้ ที่ได้รับความสนใจจากคณะเอเปคเป็นอย่างดี

ก่อนจะเดินทางต่อไปยังอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเรียนรู้กระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ส่งเสริมการเดินทางลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือ Low Carbon อย่างเป็นรูปธรรม

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ระหว่างการเป็นเจ้าภาพงานประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ.2565 ประเทศไทยยังได้จัดคู่ขนานกันไปด้วยอีกหลายกิจกรรม โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับคณะทำงานเอเปคด้านการท่องเที่ยว ครั้งที่ 60 ภายใต้หัวข้อ “Creative Placemaking : Regenerative Approach, Better Lives Through Better Places” ณ ‘GalileOasis’ ในบรรยากาศอาคารอายุ 40 ปี ขนาดเล็กบนถนนบรรทัดทองที่ได้รับการปรับโฉมใหม่ให้กลายเป็นร้านกาแฟ โรงละคร แกลเลอรี่ และโรงแรม จนเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีความสวยงามผ่อนคลาย และใกล้ชิดธรรมชาติ

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอและสร้างความเข้าใจต่อแนวคิดตอกย้ำให้เห็นถึงผลสำเร็จด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม หรือการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน : APEC Policy Recommendations for Tourism of the Future: Regenerative Tourism นำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืน และทำให้ทุกภาคส่วนมีความเป็นอยู่ที่ดี

โดยจัดการท่องเที่ยวภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อแสดงความสร้างสรรค์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สะท้อนแนวคิด BCG และกระจายรายได้การท่องเที่ยวสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังได้ระดมสมองคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวเอเปคทำกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์เพื่อออกแบบและนำเสนอเกี่ยวกับความหมายของการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืนร่วมกัน

ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์กรุงเทพมหานคร ตลอดการประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ และภูมิปัญญาเฉพาะพื้นที่ ในรูปแบบนิทรรศการที่มีชีวิต (live exhibition) 3 หัวข้อ ได้แก่

หัวข้อที่ 1 “สมุนไพรทรงคุณค่า” สาธิตการทำลูกประคบ/ ยาดมสมุนไพร และการนวดประคบสมุนไพร รวมถึงการนำเสนออาหารและเครื่องดื่มที่มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบสำคัญช่วยให้สมุนไพรไทยอุดมไปด้วยคุณค่าด้านสุขภาพ

หัวข้อที่ 2 “มหัศจรรย์มะพร้าว” นำเสนอวิถีชีวิตและความคิดสร้างสรรค์การนำวัตถุดิบพื้นถิ่นอย่าง มะพร้าว มาประกอบอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าท่องเที่ยว เช่น กาแฟสดน้ำกะทิ ขนมหวาน และ ผ้ามัดย้อมจากสีกาบมะพร้าว

หัวข้อที่ 3 “อรรถประโยชน์แห่งบัว” นำเสนอ เมี่ยงคำกลีบบัว และเครื่องดื่มจากบัว รวมทั้งการนำเสนอศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านของที่ระลึกให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากเสื่อกก ต.เหล่าพัฒนาอ.นาหว้า จ.นครพนม ที่ได้ออกแบบลวดลายร่วมสมัยสีสันสวยงาม

ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 ตลอดการจัดงานสามารถตอกย้ำแนวคิดพร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมีความหมาย (Meaningful Travel) สู่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตก้าวสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen