“ก้าวไกล”อภิปรายพ.ร.ก.ปราบคอลเซ็นเตอร์ ตั้งคำถามจัดการ “ทุนจีนเทา”ล่าช้า

“ก้าวไกล” อภิปรายเห็นด้วย พ.ร.ก.ป้องกันปราบปรามขบวนการคอลเซ็นเตอร์-บัญชีม้า แก้ปัญหาให้ประชาชน ตั้งคำถามรัฐบาล ความล่าช้า จัดการ “ทุนจีนเทา”

  • ประสิทธิภาพในการบังคับใช้ที่ยังห่างไกลจากจุดประสงค์ของกฎหมาย
  • ปรากฎข่าวเจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อยไปกินสินบนกลุ่มทุนจีนเทา

วานนี้ (3 ส.ค. 2566) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการประชุมสำคัญ พิจารณาพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่ตราขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน และบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะในการใช้ “บัญชีม้า” เพื่อการฉ้อโกง โดยในส่วนของพรรคก้าวไกล มีผู้อภิปรายสำคัญ 2 คน คือ นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เป้าหมายและมาตรการที่ พ.ร.ก. นี้ให้อำนาจหน้าที่ มีหัวใจสำคัญ 2 ประการ (1) การเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการถูกหลอกลวงให้โอนเงินมักเกิดขึ้นเป็นทอดๆ เกี่ยวข้องกับหลายธนาคาร ผ่านบัญชีม้าหลายชื่อ และเกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนบัญชีซึ่งผูกกับเบอร์โทรศัพท์หลายเบอร์ การสืบสวนและติดตามอายัดธุรกรรมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

แม้ว่าตาม ม.4 ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ จะกำหนดให้ผู้ให้บริการทั้งธนาคารและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และเท่าที่ทราบมา มีความคืบหน้าในการดำเนินการของภาคธนาคารบ้างแล้ว ในการพัฒนาระบบ Central Fraud Registry ซึ่งขอชื่นชมมาในที่นี้

การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อธนาคารได้รับข้อมูลธุรกรรมจากระบบหรือการรับแจ้งมาแล้ว ธนาคารสามารถระงับธุรกรรมชั่วคราว พร้อมกับแจ้งธนาคารที่รับโอนทอดต่อไป และแจ้งข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อระงับธุรกรรมดังกล่าว หยุดการโอนเงินต่อเป็นทอดๆ ของบัญชีม้าได้ ซึ่งระบบที่ทำขึ้นนั้นต้องเท่าทัน จำเป็นต้องมีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เชื่อมต่อได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถระงับความเสียหายได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตามจากสถิติการอายัดธุรกรรมในเดือนมิถุนายน 2566 กลับพบว่าอายัดไว้ได้ทัน 0 บาท หรือแม้ตัวเลขที่ผู้ชี้แจงระบุว่าตั้งแต่การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มา สามารถอายัดได้ 10% ของความเสียหาย ก็ยังห่างไกลจากวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. ดังกล่าว ดังนั้น จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพัฒนาระบบและการบูรณาการ ให้สามารถป้องกันการโอนเงินเป็นทอดๆ ได้จริง

(2) การแจ้งข้อมูลหลักฐาน ตาม ม.7 และ ม.8 ของ พ.ร.ก. ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายในการแจ้งความ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีระบบแจ้งความออนไลน์ จากสถิติพบว่ามีการแจ้งความเข้ามาถึง 522 คดีต่อวัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 74 ล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันมีคดีค้างอยู่เป็นหลักแสนที่คลี่คลายไม่ทัน

จึงมีข้อเสนอว่าควรมีการเชื่อมต่อกัน ระหว่างการร้องเรียนไปทางธนาคาร กับระบบร้องทุกข์และแจ้งข้อมูลหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของตำรวจ โดยนำ ม.4 ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาใช้ เพื่อไม่ต้องให้ผู้เสียหายแจ้งธนาคารแล้วต้องไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วนำใบแจ้งความกลับมาธนาคารอีกที ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้น เงินโอนหายไปหมดแล้ว

นายชัยวัฒน์ระบุว่า เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้ และขอให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.ก. นี้ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลทั้งสถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการเครือข่าย ปฏิบัติตาม พ.ร.ก. นี้อย่างเต็มที่ พร้อมพัฒนาให้การบังคับใช้เกิดประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

ขณะที่นายวิโรจน์  กล่าวว่า (1) เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตรา พ.ร.ก. ฉบับนี้ ที่จริงควรเร่งดำเนินการให้เร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว ขบวนการฉ้อโกงเช่นนี้เริ่มระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 ด้วยการให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม และมีพัฒนาการเรื่อยมาผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง เอสเอ็มเอส อีเมล หรือเฟซบุ๊ก และมาระบาดหนักหลังจากที่มีพร้อมเพย์ในปี 2559 และแอปพลิเคชันเป๋าตังในปี 2561 เมื่อประชาชนเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากการที่รัฐบาลไม่ได้ตระหนักว่าโจรไซเบอร์จะใช้ช่องทางเหล่านี้ในการเข้ามาหลอกลวงประชาชน

(2) ตั้งข้อสังเกตความจริงจังของรัฐบาล ปล่อยจีนเทา “เหยียบจมูก” ถึงถิ่น ไร้มาตรการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 หลังจากรัฐบาลกัมพูชาภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีน มีนโยบายปราบปรามกาสิโนออนไลน์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมอาชญากรจีนเทาที่หลอกลวงประชาชนเข้าด้วยกัน แทนที่รัฐบาลไทยจะเตรียมมาตรการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนเทาที่กำลังจะหนีจากกัมพูชาเข้ามาประเทศไทย แต่กลับปล่อยให้ขบวนการเหล่านี้เข้ามาเหยียบจมูกถึงถิ่น ซ้ำร้ายด้วยความที่ขบวนการเหล่านี้มีเงินมหาศาลและรู้ดีว่าระบบราชการไทยภายใต้รัฐบาลนี้ซื้อได้ จึงมีข่าวปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลาย ว่ามีตำรวจ ทหาร และดีเอสไอ จำนวนไม่น้อยไปกินสินบนกลุ่มทุนจีนเทาเหล่านี้

ที่ผ่านมาสถานทูตจีนพยายามประสานงานกับทางการไทยในการประสานงานปราบปราม แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร และยังมีการให้สัญชาติบุคคลในขบวนการเหล่านี้ด้วยซ้ำ หรือแม้แต่เมื่อมีการแฉเรื่องส่วยและขบวนการทุนจีนเทาที่มีความพัวพันกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายคน ก็ปรากฏว่าต้องใช้เวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 กว่าที่จะจับอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน

ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยมีมาตรการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ปล่อยให้มีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประวัติคนไข้ 16 ล้านคนที่ถูกแฮ็ก หรือข้อมูลนักท่องเที่ยว 106 ล้านคนที่รั่วไหล และที่น่าเจ็บใจที่สุด คือกรณีที่ตำรวจยศพันตำรวจโทและข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ขายข้อมูลทะเบียนราษฎร์และข้อมูลทะเบียนการค้าให้ขบวนการคอลเซ็นเตอร์มาหลอกคนไทยด้วยกัน แลกกับรายได้เดือนละ 600,000 บาท

ทุกคนทราบว่าบัญชีม้าเป็นอาวุธสำคัญของโจรไซเบอร์เหล่านี้ แต่กว่าที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะบังคับใช้ ต้องรอจนถึง 17 มีนาคม 2566 ซึ่งเกิดความเสียหายมหาศาลขึ้นแล้ว จากสถิติจะเห็นได้ว่าปี 2563 มีความเสียหายเกิดขึ้นถึง 700 ล้านบาท ปี 2564 ขยับขึ้นมาเป็น 1,600 ล้านบาท ปี 2565 พุ่งขึ้นเป็น 32,000 ล้านบาท มีการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ถึง 200,000 กว่าคดี

(3) ตั้งคำถาม รัฐสนับสนุนงบประมาณ-โครงสร้างพื้นฐานแก่เจ้าหน้าที่ เพียงพอหรือไม่?

นายวิโรจน์ตั้งคำถามว่าตาม ม.6 วรรค 3 ที่ระบุว่าเมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา หากปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้ดำเนินตามกฎหมายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรม

ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ดี แต่คำถามคือรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานให้สถานีตำรวจท้องที่อย่างเพียงพอแล้วหรือยัง เพราะที่ผ่านมาการแจ้งความจำนวนมากไม่ได้เกิดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ แต่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจท้องที่ ซึ่งไม่มีเครื่องมือและงบประมาณสนับสนุน ได้แต่รับลงบันทึกประจำวันไปเท่านั้น

นายวิโรจน์กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตรา พ.ร.ก. นี้ และหวังว่าจะไม่เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่หวังว่าจะมีการสนับสนุนงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานให้กับตำรวจอย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองประชาชนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุนจีนสีเทาเหล่านี้อย่างจริงจัง

สรุปการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร: ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 431 ไม่เห็นด้วย 6

ขอบคุณข้อมูลเพจพรรคก้าวไกล