กู้วิกฤต!…กบร.ไฟเขียวกองทุนรวมในประเทศเข้ามาลงทุนในสายการบิน

กบร.ไฟเขียวเชิดช่องแก้วิกฤติสายการบินให้กองทุนรวม-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในประเทศเข้ามาลงทุนในสายการบินได้ กพร.เด้งรับเตรียมแก้กฎหมายเพื่อให้ดำเนินการใน 3 เดือนข้างหน้า พร้อมอนุมัติ แผนแม่บทห้วงอากาศให้ บวท.วางแผนร่วมกองทัพอากาศขอสลอตที่ไม่ได้ใช้มาจัดจราจรรองรับการเติบโตทางอากศใน3ปีข้างหน้ารองรับเที่ยวบิน1.2ล้านเที่ยวบินต่อปี จากปัจจุบันรับได้ 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.)ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธาน มีมติให้ กพท.ไปแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ออกเป็นกฎกระทรวง กำหนดเปิดให้ กองทุนรวมต่างๆ และหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศได้ จากเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก่อนจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้จะดำเนินการแล้วเสร็จใน 3 เดือน

สำหรับสาเหตุที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดให้ กองทุนต่างๆสามารถเข้ามาลงทุนในหุ้นสายการบินได้ เนื่องจากทางสายการบินได้แจ้งมายัง กพท. เพื่อขอปลดล็อคประเด็นนีี้เนื่องจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ผ่านๆมา หลายๆหน่วยงานได้มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวมจำนวนมาก และเลือกเข้ามาลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้สายการบินหมดโอกาสที่จะให้กองทุนเข้ามาลงทุน ประกอบกับเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน ในช่วงที่ภาวะตลาดเอื้ออำนวยและช่วยสถานการณ์ของสายการบินได้ หากเกิดวิกฤต ทั้งนี้เงื่อนไขของกองทุนที่จะเข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศนั้นจะกำหนดให้เฉพาะกองทุนในประเทศเท่านั้นที่มีสิทธิมาลงทุน

นอกจากนั้นที่ประชุม กบร. ยังได้พิจารณาทบทวน (ร่าง) แผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งจากเดิมจะเป็นการบริหารแผนแม่บทระยะเวลา 10 ปีมา เป็นการทบทวนและวางแผนเพื่อรองรับในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้การบริหารจัดการห้วงอากาศและความมั่นคงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  เพื่อใช้ประโยชน์จากน่านฟ้าต่อไปในอนาคต โดยกระทรวงคมนาคม , กพท.ได้มอบหมายให้ บวท.ไปบริหารจัดการและประสานงานกับ กองทัพอากาศที่จะนำห้วงอากาศในกิจการทหารและความมั่นคง ในช่วงที่ไม่ใช้มาบริหารจัดการในพลเรือนได้แบบยืดหยุ่น โดยมีการคาดการณ์ว่าใน3ปีจากนี้หากบริหารจัดจราจรทางอากาศจะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้กว่าปีละ 1.2 ล้านเที่ยวบินจากปัจจุบันรองรับได้ 1ล้านเที่ยวบินต่อปี

 นายจุฬา ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาอนุมัติให้ บวท.สามารถบริการจัดจราจรทางอากาศได้ไม่มีระยะเวลา จากเดิม บวท.ได้มีการทำสัญญากับกระทรวงคมนาคม ในการเข้ามาเป็นผู้จัดบริหารจราจรทางอากาศ ซึ่งสัญญาเดิมจะหมดอายุในปี 64 โดยตามขั้นตอนเมื่อ กบร.อนุมัติแล้วทางกระทรวงคมนาคมจะเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไป สำหรับสาเหตุที่เสนอเป็นมติ ครม. เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดจราจรในห้วงอากาศของประเทศ ถือเป็นความมั่นคง